คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3035/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในทางสังคม เพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่จะอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ดังกล่าว คำว่า “บุตร” ตามมาตรา 73 จึงต้องหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและรวมถึงบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายด้วย
พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) ก็มิได้กำหนดให้บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เมื่อในขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 56 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนตามคำสั่งศาลแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า นายประยูร ผาดโผน เป็นลูกจ้างบริษัทแม็กเซลเทคโนโลยี จำกัด ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการได้จ่ายเงินสมทบเพื่อรับประโยชน์ทดแทนกรณีตายมาแล้ว 127 เดือน และจ่ายเงินสมทบเพื่อรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพมาแล้ว 41 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย วันที่ 21 พฤษภาคม 2545 นายประยูร ผาดโผน ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายด้วยโรคติดเชื่อแบคทีเรียในกระแสเลือดที่โรงพยาบาลสยาม นายประยูรอยู่กินฉันสามีภริยากับนางกานดา สรรพัชญา โดยมิได้จดทะเบียนสมรสและมีโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 เนื่องจากนายประยูรและนางกานดาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยจัดงานพิธีสมรสและญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายรับรู้ และเมื่อโจทก์ทั้งสองเกิด นายประยูรแจ้งเกิดด้วยตนเอง วันที่ 31 พฤษภาคม 2545 โจทก์ทั้งสองและนางกานดาได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตายต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 มีคำสั่งจ่ายเงินค่าทำศพให้แก่นางกานดาและโจทก์ทั้งสองเท่านั้น และมีคำสั่งว่า นางกานดาและโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพเนื่องจากมิใช่ทายาทที่กฎหมายกำหนด วันที่ 11 มีนาคม 2546 โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพอีกครั้ง แต่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยที่ 805/2546 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายเนื่องจากโจทก์ทั้งสองมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะที่นายประยูรผู้ประกันตนยังมีชีวิต สำหรับกรณีเงินบำเหน็จชราภาพเห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเนื่องจากการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผลนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายจึงมีตั้งแต่วันดังกล่าวจึงมีมติให้ยกอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ กล่าวคือ สำหรับกรณีเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายนั้น พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) กำหนดว่า ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีหรือภริยาหรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งกรณีตามมาตรา 73 (2) ระบุว่าบุตรของผู้ประกันตนต่างกับผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามมาตรา 77 จัตวา ซึ่งระบุทายาทของผู้มีสิทธิได้แก่ (1) บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเห็นได้ว่า กรณีตามมาตรา 73 (2) ใช้คำว่าบุตรมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายดังเช่นมาตรา 77 จัตวา หากกฎหมายประสงค์จะให้หมายความเฉพาะแต่บุตรชอบด้วยกฎหมายก็คงเขียนระบุไว้ชัดเจน เช่น มาตรา 77 จัตวา ดังนั้น โจทก์ทั้งสองเห็นว่ากรณีเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับเนื่องจากโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของผู้ประกันตนนอกจากนั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 และโจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพในวันที่ 11 มีนาคม 2546 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเมื่อโจทก์ทั้งสองมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรและยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในกำหนดเวลา ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 805/2546 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2546 และให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 มาตรา 73 (2) กำหนดว่า เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน เงินสงเคราะห์ดังกล่าวจึงมิใช่มรดก แต่เป็นเงินที่เกิดขึ้นจากการตายของผู้ประกันตน และจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางกานดา สรรพัชญา โดยมิได้จดทะเบียนสมรสและมิได้จดทะเบียนรับรองว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรหรือมิได้กระทำการใดๆ ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ประกอบมาตรา 1557 โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิต ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีผลนับแต่วันนั้นเป็นต้นไป หามีผลย้อนหลังไปถึงเวลาก่อนที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 มาตรา 77 จัตวา กำหนดว่า ทายาทผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ (1) บุตรชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริงกรณีนี้ปรากฏว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 ซึ่งเป็นทายาทภายหลังจากที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายแล้วโดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 กำหนดว่าการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 มีผลนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ดังนั้น สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายจึงมีตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพที่โจทก์ทั้งสองกล่าวในฟ้องว่าคำว่า บุตร ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) ไม่จำเป็นต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จำเลยเห็นว่าถ้ากฎหมายมีเจตนารมณ์จะให้หมายความรวมถึงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรนอกกฎหมายด้วย ก็น่าจะบัญญัติไว้ให้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือบัญญัติว่าบุตรชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือถ้อยคำอื่นๆ อันมีความหมายรวมถึงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ดังนั้น คำว่าบุตรตามมาตรา 73 (2) ย่อมหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ซึ่งมิเช่นนั้นก็จะเป็นการยากที่จะพิสูจน์ให้ได้ความจริงว่าเป็นบุตรของผู้ประกันตนจริงหรือไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 805/2546 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2546 และให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพแก่โจทก์ทั้งสองตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.3533
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่นายประยูรผู้ประกันตนถึงแก่ความตายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า คำว่า บุตร ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) หมายความเพียงบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนเท่านั้น แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนก่อนหรือขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายนั้น พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานถ้าภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตายดังนี้… (2) เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีภริยา บิดามารดาหรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน…” เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “บุตร” ว่ามีความหมายอย่างไรตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็เขียนคำว่าบุตรไว้สองแบบคือ ตามมาตรา 73 (2) ที่กล่าวมาใช้คำว่า “บุตร” ส่วนในมาตรา 75 ตรี เกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร และในมาตรา 77 จัตวา (1) เกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพใช้คำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” เมื่อใช้คำต่างกันในพระราชบัญญัติเดียวกันเช่นนี้ แสดงว่ามีความประสงค์จะให้ความหมายของคำว่า “บุตร” แตกต่างไปจากคำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” โดยคำว่าบุตรนั้นถือเอาบุตรตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งรวมถึงบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย เมื่อพิจารณาประกอบเหตุผลว่าบทกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในทางสังคม เพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่จะอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคมดังกล่าว คำว่า “บุตร” ตามมาตรา 73 จึงต้องหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและรวมถึงบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรอันแท้จริงของนายประยูร โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในกรณีที่นายประยูรผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยประการแรกนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ต่อไปเป็นประการสุดท้ายว่า แม้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะได้มีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประยูร แต่การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดอันเป็นเวลาหลังจากที่นายประยูรผู้ประกันตนถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายก่อนหรือขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนหรือผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายในหกสิบเดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้ทายาทของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ” วรรคสอง บัญญัติว่า “ทายาทผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ (1) บุตรชอบด้วยกฎหมาย…” ดังนั้น ทายาทของผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) จึงต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน เมื่อข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ปรากฏว่านายประยูรผู้ประกันตนอยู่กินฉันสามีภริยากับนางกานดา สรรพัชญา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีบุตรสองคนคือโจทก์ทั้งสอง ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 นายประยูรถึงแก่ความตาย และวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 นางกานดากับโจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย แต่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 มีคำสั่งว่านางกานดากับโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพเนื่องจากมิใช่ทายาทที่กฎหมายกำหนด ต่อมาโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขอให้สั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประยูร และเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประยูรบิดาผู้วายชนม์ วันที่ 11 มีนาคม 2546 โจทก์ทั้งสองจึงได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวในขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ทั้งสองจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประยูรผู้ประกันตน เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ประสงค์จะให้ผู้ประกันตนหรือทายาทได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนเพื่อเป็นการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนหรือทายาทของผู้ประกันตนประกอบกับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) ก็มิได้กำหนดให้บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นเมื่อในขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประยูรตามคำสั่งศาลแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพของนายประยูรผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share