คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มึนเมาสุราในเวลาทำงาน พูดจาก้าวร้าวท้าทาย ส.หัวหน้าแผนกธุรการแล้วละทิ้งหน้าที่ออกจากโรงงานไป เป็นการก่อให้เกิดสภาพไม่มีระเบียบวินัย ทำลายความสงบเรียบร้อยของสถานที่ทำงาน ทำลายความสามัคคีก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท เสียหายต่อการปกครองบังคับบัญชา และเสียหายแก่การงานของจำเลยที่โจทก์ละทิ้งไป ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยและเป็นกรรมการลูกจ้าง ศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์กระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหลายข้อ จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ซึ่งความผิดที่จำเลยยกขึ้นอ้างมิใช่ความผิดร้ายแรง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยขออนุญาตศาลแรงงานกลางเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ ฯ หลายข้อ คือจำเลยได้ดื่มสุรามีอาการมึนเมาในขณะปฏิบัติงาน ละทิ้งหน้าที่นอกบริเวณโรงงานโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพก้าวร้าวผู้บังคับบัญชา พูดจาเอะอะโวยวายรบกวนการปฏิบัติงานของเพื่อนร่วมงาน จำเลยมีสิทธิพิจารณาโทษขั้นหนักได้ และได้เลิกจ้างโจทก์ตามที่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลาง จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของโจทก์ที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โดยโจทก์มึนเมาสุราในเวลาทำงานพูดจาก้าวร้าวท้าทายนายโสภณหัวหน้าแผนกธุรการว่า ‘ถ้างั้นหลังเลิกงานแล้วเจอกันดีกว่า คุณกับผมก็มีอายุห่างกันไม่เท่าไร’ และว่า ‘เดี๋ยวชกหน้าแม่มันเลย’ หลังจากนั้นก็ละทิ้งหน้าที่ออกจากโรงงานไป เป็นการก่อให้เกิดสภาพไม่มีระเบียบวินัย ทำลายความสงบเรียบร้อยของสถานที่ทำงาน ทำลายความสามัคคีก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท เสียหายต่อการปกครองบังคับบัญชาตลอดจนเสียหายแก่การงานของจำเลยที่โจทก์ละทิ้งไป ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๗ (๓) แล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พิพากษายืน.

Share