คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775-3776/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ให้การรับสารภาพต่อผู้บังคับบัญชาว่าทุจริตต่อหน้าที่เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอันเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ตามข้อบังคับของจำเลยผู้ว่าการมีอำนาจพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออกหรือให้ออกได้โดยไม่ต้องตั้งกรรมการสอบสวนอำนาจนี้เป็นอำนาจที่สมบูรณ์ของผู้ว่าการจำเลย แม้จำเลยจะตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนโดยไม่มีผู้แทนของสหภาพแรงงานเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยตามข้อตกลงระหว่างสหภาพแรงงานกับจำเลย ก็ไม่มีผลลบล้างอำนาจที่สมบูรณ์สิทธิขาดนั้นเสียได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยสำนักงานประปาสงขลา และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานการประปาส่วนภูมิภาค จำเลยให้โจทก์ทั้งสองออกจากงานโดยอ้างว่าโจทก์ย้ายมาตรวัดน้ำโดยไม่มีอำนาจ เรียกรับเงินค่าย้ายและค่าติดตั้งเป็นประโยชน์ส่วนตัว ยักยอกมาตรวัดน้ำ ท่ออุปกรณ์ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ผิดวินัยและข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่เป็นความจริง การสอบสวนโจทก์ไม่ชอบเพราะจำเลยมิได้แต่งตั้งผู้แทนสหภาพแรงงานเข้าร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วยตามข้อบังคับและข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงาน จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างและให้รับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานตามเดิม ให้จ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงานพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองกระทำผิดตามฟ้อง และได้รับสารภาพต่อผู้บังคับบัญชาและคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ตามข้อบังคับของจำเลยข้อ ๔๑ ถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง จำเลยจึงไล่ออกได้โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามข้อบังคับข้อ ๓๙ และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองได้ให้การรับสารภาพผิดต่อผู้บังคับบัญชาจริงตามที่จำเลยให้การไว้ การกระทำของโจทก์ทั้งสอง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงควรที่จะต้องโทษถึงขั้นไล่ออกตามข้อบังคับฯ ของจำเลย ข้อ ๓๗(๓) เมื่อเป็นการทุจริตต่อหน้าที่การงาน และโจทก์ทั้งสองให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อผู้บังคับบัญชา กรณีจึงต้องด้วยข้อบังคับฯ ดังกล่าวข้อ ๔๑(๓)เป็นการกระทำผิดวินัยอันเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้ว่าการของจำเลยมีอำนาจพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออกหรือให้ออกได้โดยไม่ตั้งกรรมการสอบสวน ศาลฎีกาเห็นว่าอำนาจตามข้อบังคับฯ ข้อ ๔๑ เป็นอำนาจที่สมบูรณ์ของผู้ว่าการจำเลย ไม่มีข้อบังคับข้อใดจะลบล้างอำนาจที่สมบูรณ์สิทธิขาดนั้นเสียได้ แม้ไม่มีการตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ทั้งสองประการใดเลย ผู้ว่าการของจำเลยย่อมมีอำนาจลงโทษโจทก์ทั้งสองได้โดยลำพังอยู่แล้ว การตั้งกรรมการสอบสวนโดยไม่มีผู้แทนของสหภาพแรงงานเข้าร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วย ไม่มีผลลบล้างอำนาจที่สมบูรณ์สิทธิขาดนั้นเสียได้ เหตุนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน

Share