คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 967/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารโจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลังจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตโดยจำเลยอนุมัติให้บริษัทส. เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยจำเลยไม่มีอำนาจแม้จะได้ความว่าหลังจากจำเลยลาออกจากโจทก์แล้วต่อมาโจทก์ได้ยอมรับการชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่บริษัทส. ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ก็ตามก็เป็นเพียงการที่โจทก์ผ่อนผันให้บริษัทดังกล่าวชำระหนี้ที่ก่อนไว้เท่านั้นหาเป็นการสละหรือยอมให้หนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้นระงับไม่เมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตต่อโจทก์อันเป็นความผิดแล้วโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยไม่คำนึงถึงว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือไม่ จำเลยอนุมัติให้บริษัทส. เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่มีอำนาจหลายวันด้วยกันแต่ในแต่ละวันจำเลยจะอนุมัติเพียงครั้งเดียวดังนี้แม้จำเลยจะมีเจตนาอย่างเดียวกันในอันที่จะให้บริษัทดังกล่าวได้เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่ชอบเจตนาเช่นนั้นก็มีได้เฉพาะในวันหนึ่งวันหนึ่งเมื่อสิ้นวันแล้วจำเลยมีเจตนาเช่นนั้นอีกก็เป็นการกระทำอีกวันหนึ่งซึ่งเป็นการกระทำต่างหากจากวันที่ล่วงมาเป็นอีกกรรมหนึ่งดังนั้นการที่จำเลยอนุมัติให้บริษัทส.เบิกเงินเกินบัญชีไปวันหนึ่งเป็นการกระทำกรรมหนึ่งจำเลยอนุมัติทั้งหมด144วันจึงเป็นความผิด144กรรมมิใช่เป็นความผิด338กรรมตามที่จำเลยอนุมัติเช็คและใบหักหนี้แต่ละฉบับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8และ 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502มาตรา 11 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91จำนวน 338 กระทงจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามมาตรา 91(2) แล้ว คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง บริษัทสีลมพลาซาจำกัด เป็นลูกค้าของโจทก์ และได้รับอนุมัติจากโจทก์ให้กู้เงินประจำวงเงิน 50,000,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารโรงแรมสีลมพลาซา นอกจากนั้นบริษัทดังกล่าวยังได้รับอนุมัติจากโจทก์ให้ก่อหนี้ตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันหนี้ตามคำขอให้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศ หนี้ตามสัญญามอบสินค้าเชื่อทรัสต์รีซีสและหนี้ตามคำขออาวัลตั๋วเงินโดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 4477 แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่262 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารโรงแรมสีลมพลาซา ซึ่งจะก่อสร้างขึ้นในอนาคตจำนองเป็นประกัน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน2525 บริษัทดังกล่าวเปิดบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 006-6-00133-5ไว้กับโจทก์ สำนักนานาเหนือโดยไม่มีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและไม่มีหลักประกัน จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2527 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2528 จำเลยยื่นใบลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ โจทก์อนุมัติให้จำเลยออกมีผลตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2529 ระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม 2527ถึงวันที่ 13 มกราคม 2529 จำเลยในฐานะรองผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่ ได้อนุมัติให้จ่ายเงินตามเช็คที่บริษัทสีลมพลาซาจำกัด สั่งจ่ายเบิกเงินเกินบัญชีตามเช็ครวม 325 ฉบับ โดยไม่มีสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและไม่มีหลักประกันและยังอนุมัติให้นำหนี้อื่นของบริษัทดังกล่าวที่ค้างชำระแก่โจทก์นำไปหักบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 006-6-00133-5 ตามเอกสารหมาย จ.21 รวม19 ฉบับ อันถือว่าเป็นการเบิกเงินเกินบัญชีเช่นกัน ดังนั้นวันที่13 มกราคม 2529 บริษัทดังกล่าวมียอดหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีสูงถึง 30,553,321.57 บาท เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2528 บริษัทดังกล่าวมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า บริษัทดังกล่าวเปิดดำเนินกิจการโรงแรมแล้วพร้อมที่จะนำอาคารโรงแรมมาจำนองเป็นประกันหนี้ทั้งหมดที่ค้างชำระแก่โจทก์ และขอนำหลักทรัพย์ไปจดทะเบียนจำนองในลำดับที่ 2 แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เงินทุนสากล จำกัดโจทก์อนุมัติให้ดำเนินการตามที่บริษัทดังกล่าวขอ ตามเอกสารหมายจ.31 วันที่ 14 มกราคม 2529 จำเลยอนุมัติให้ขึ้นวงเงินจำนองที่ดินโฉนดดังกล่าวเพิ่มอีก 5,500,000 บาท รวมวงเงินจำนองที่ดิน30,500,000 บาท และจำนองอาคารโรงแรมสีลมพลาซา ในวงเงิน137,500,000 บาท รวมวงเงินจำนองทั้งหมด 168,000,000 บาท โดยบริษัทดังกล่าวมียอดหนี้ทุกประเภทในวันที่ 13 มกราคม 2529เป็นเงิน 166,477,763.52 บาท ตามเอกสารหมาย จ.32 วันที่15 มกราคม 2529 โจทก์กับบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 อีก 5,500,000 บาท รวมเป็นยอดเงินจำนองที่ 30,500,000บาท ตามบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองเอกสารหมาย จ.27 (แผ่นที่ 8)วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนจำนองอาคารโรงแรมเป็นประกันจำนวน 137,500,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.28ซึ่งในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 นั้น หน่วยหลักประกันของโจทก์ได้ตรวจสอบและประเมินราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 4477 เป็นเงิน27,020,166 บาท และอาคารโรงแรมสีลมพลาซาเป็นเงิน90,071,633 บาท รวมราคาหลักประกัน 117,091,799 บาท ตามเอกสารหมาย จ.33
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่แม้จะได้ความว่าหลังจากจำเลยลาออกจากโจทก์แล้วต่อมาโจทก์ได้ยอมรับการชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่บริษัทสีลมพลาซา จำกัดทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.37 ก็ตามก็เป็นเพียงการที่โจทก์ผ่อนผันให้บริษัทดังกล่าวชำระหนี้ที่ก่อไว้เท่านั้น หาเป็นการสละหรือยอมให้หนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้นระงับไปไม่เมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต่อโจทก์ อันเป็นความผิดแล้วโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายหรือไม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยอนุมัติให้บริษัทสีลมพลาซา จำกัด เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยจำเลยไม่มีอำนาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและเป็นการกระทำโดยสุจริตจำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกว่าการกระทำของจำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่
มีปัญหาต่อไปว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางสาวสุพัตราพยานโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าการเสนอเรื่องเพื่ออนุมัติให้ลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชีในแต่ละวัน จะเสนอให้จำเลยอนุมัติครั้งเดียวในเวลาประมาณ 17 นาฬิกา เห็นว่า แม้จำเลยจะมีเจตนาอย่างเดียวกันในอันที่จะให้บริษัทดังกล่าวได้เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่ชอบเจตนาเช่นนั้นก็มีได้เฉพาะในวันหนึ่งวันหนึ่ง เมื่อสิ้นวันแล้วจำเลยมีเจตนาเช่นนั้นอีกก็เป็นการกระทำอีกวันหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำต่างหากจากวันที่ล่วงมาเป็นอีกกรรมหนึ่ง ดังนั้นการที่จำเลยอนุมัติให้บริษัทสีลมพลาซา จำกัด เบิกเงินเกินบัญชีไปวันหนึ่งเป็นการกระทำกรรมหนึ่ง จำเลยอนุมัติทั้งหมด 144 วันจึงเป็นความผิด 144 กรรม มิใช่เป็นความผิด 338 กรรม ตามที่จำเลยอนุมัติเช็คและใบหักหนี้แต่ละฉบับดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยกระทำความผิด 144 กรรม ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิด โดยจำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ10,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2)แล้ว คงจำคุก 20 ปี และปรับ 1,440,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share