แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการในสังกัดโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบก่อนหรือขณะทำสัญญาว่าโจทก์จะให้ข้าราชการในสังกัดโจทก์เข้าอยู่อาศัยทันทีเมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารดังกล่าวแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญาเนื่องจากโจทก์มีภาระต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ทั้งเมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์ยังขยายเวลาให้จำเลยอีก 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าการที่จำเลยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จโจทก์จะต้องจ่ายค่าเช่าบ้านให้แก่ข้าราชการในสังกัดโจทก์เป็นเงินเดือนละเท่าใด ค่าเช่าบ้านดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ แต่เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งโจทก์จะเรียกจากจำเลยได้เมื่อจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนี้ล่วงหน้าก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรได้คาดเห็นพฤติการณ์พิเศษดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,469,615 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,335,931 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,214,126.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,103,889 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 สิงหาคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2540 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการ สำนักงานขนส่งจังหวัดยะลาเป็นเงิน 11,743,500 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 420 วัน หากจำเลยทำงานไม่แล้วเสร็จ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและสามารถจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทำงานแทนจนแล้วเสร็จ หากไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาให้มีสิทธิได้รับค่าปรับวันละ 11,743.50 บาท และถ้าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาพร้อมกับได้รับค่าปรับด้วย โดยมีธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยไว้ในวงเงิน 587,175 บาท หลังจากทำสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยตกลงขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 3 ครั้ง ครั้งแรก 180 วัน ครั้งที่สอง 350 วัน และครั้งที่สาม 292 วัน ครบกำหนดวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 แต่จำเลยไม่สามารถก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จภายในกำหนดอันเป็นการผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างดังกล่าวโจทก์จึงบอกเลิกสัญญา สำหรับงานก่อสร้างที่เหลือโจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีเขื่อนขันธ์ทำการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2545 โดยโจทก์จ่ายเงินค่าก่อสร้างไปเป็นเงิน 4,853,000 บาท เท่ากับค่าจ้างก่อสร้างส่วนที่จำเลยยังไม่ได้ส่งมอบงานแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่เรียกค่าเสียหายสำหรับค่าจ้างก่อสร้างงานที่จำเลยทำไม่เสร็จ คงฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระค่าปรับรายวัน กับค่าเสียหายเนื่องจากต้องจ่ายค่าเช่าบ้านแก่ข้าราชการเท่านั้น สำหรับค่าปรับรายวันเป็นเวลา 144 วัน เป็นเงิน 1,691,064 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระแก่โจทก์เต็มจำนวนนั้น จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ ค่าปรับรายวันดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายจำนวน 232,042 บาท ซึ่งเป็นค่าเช่าบ้านที่โจทก์จ่ายให้แก่ข้าราชการในสังกัดโจทก์จำนวน 11 ราย จากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการในสังกัดโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบก่อนหรือขณะทำสัญญาว่าโจทก์จะให้ข้าราชการในสังกัดโจทก์เข้าอยู่อาศัยทันทีเมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารดังกล่าวแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญาเนื่องจากโจทก์มีภาระต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ทั้งเมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์ยังขยายเวลาให้จำเลยอีก 3 ครั้ง ครั้งแรก 180 วัน ครั้งที่สอง 350 วัน และครั้งที่สาม 292 วัน แต่ก็ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าการที่จำเลยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จโจทก์จะต้องจ่ายค่าเช่าบ้านให้แก่ข้าราชการในสังกัดโจทก์จำนวน 11 ราย เป็นเงินเดือนละเท่าใด ค่าเช่าบ้านดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ แต่เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งโจทก์จะเรียกจากจำเลยได้เมื่อจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนี้ล่วงหน้าก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์พิเศษดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ