คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4049/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1151 จะกำหนดให้เฉพาะที่ประชุมใหญ่เท่านั้นที่จะตั้งหรือถอนกรรมการบริษัทได้ก็ตาม แต่ก็มิได้ตัดอำนาจของศาลที่จะถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวที่ศาลตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 73 ถึงแม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติโดยตรงให้ศาลถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวก็ตาม แต่ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวที่ศาลตั้งได้หากมีเหตุอันสมควร ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าหากกฎหมายประสงค์จะให้ศาลมีอำนาจถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวที่ศาลตั้งขึ้นก็ย่อมจะบัญญัติไว้แต่ไม่ปรากฏว่าได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดนั้น จึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกของนายเชียง ซวน ฮวง ซึ่งมีสัญชาติไต้หวัน นายเชียง ชวน ฮวง ได้มอบหมายให้พันตำรวจเอกถาวร จิริยะสิน ก่อตั้งบริษัทเมืองรุ้ง จำกัด และบริษัทศรีเมืองรุ้ง จำกัด ขึ้นในประเทศไทยทำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัททั้งสองนั้นมีพันตำรวจเอกถาวรนางเชน ฮุย ชิง ฮวง และบิดาโจทก์เป็นกรรมการ โดยกรรมการสองในสามคนลงชื่อร่วมกันพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทดังกล่าว มีอำนาจกระทำการแทนแต่ละบริษัทได้บิดาโจทก์มีหุ้นอยู่ในบริษัทเมืองรุ้ง จำกัด จำนวน 102,000 หุ้น และในบริษัทศรีเมืองรุ้ง จำกัด จำนวน 7,494 หุ้น โดยมีพันตำรวจเอกถาวรถือหุ้นไว้แทนบิดาโจทก์ทั้งหมดในบริษัทเมืองรุ้ง จำกัด และถือหุ้นไว้แทนบิดาโจทก์จำนวน 5,094 หุ้น ในบริษัทศรีเมืองรุ้ง จำกัดและมีนางเชน ฮุย ชิง ฮวง ถือหุ้นไว้แทนส่วนที่เหลือจำนวน 2,400 หุ้น ในบริษัทศรีเมืองรุ้งจำกัด บิดาโจทก์มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้กระทำการแทนในการจัดการและการบริหารบริษัททั้งสอง เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2536 บิดาโจทก์ถึงแก่กรรมและโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลในคดีหมายเลขแดงที่ 2320/2537 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 26กันยายน 2536 ก่อนศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก พันตำรวจเอกถาวร และนางเชน ฮุย ชิง ฮวง ได้ร่วมกันโอนหุ้นในบริษัททั้งสองที่ถือไว้แทนบิดาโจทก์ให้แก่จำเลยทั้งสองโดยมิชอบ โจทก์จึงได้ฟ้องนางเชน ฮุย ชิง ฮวง กับพวกรวม 3 คน ขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นแล้ว คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ต่อมาวันที่ 14มิถุนายน 2537 จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งจำเลยทั้งสองเป็นกรรมการของบริษัททั้งสองชั่วคราว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องแต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต จำเลยทั้งสองจึงนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนเป็นกรรมการชั่วคราวของบริษัททั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองมิได้เรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อตั้งกรรมการตามข้อบังคับไม่ได้จัดทำบัญชีและดำเนินธุรกิจทั้งหลาย ขับไล่โจทก์และพนักงานออกจากสถานประกอบการ ปิดสถานประกอบการ และจำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากธนาคารอันเป็นการก่อภาระหนี้สินให้บริษัททั้งสอง นอกจากนี้จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่บริษัทเมืองรุ้ง จำกัด ถูกฟ้องโดยยอมรับข้อกำหนดอันไม่ควรกระทำและตระเตรียมจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัททั้งสองด้วย โจทก์ได้เจรจากับจำเลยทั้งสองหลายครั้งแล้วแต่ไม่เป็นผล ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนจำเลยทั้งสองออกจากการเป็นกรรมการชั่วคราวของบริษัทเมืองรุ้ง จำกัด และบริษัทศรีเมืองรุ้ง จำกัด หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสองในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กับขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัททั้งสองด้วย

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า การตั้งหรือถอนกรรมการบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1151 บัญญัติว่าเฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่ของกรรมการบริษัทเท่านั้นที่อาจจะตั้งหรือถอนได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลถอนจำเลยทั้งสองได้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์เป็นบุตรชายของนายเชียง ชวน ฮวง ผู้ถือหุ้นในบริษัทเมืองรุ้ง จำกัด และบริษัทศรีเมืองรุ้ง จำกัดโดยมีพันตำรวจเอกถาวร จิริยะสิน และนางเชน ฮุย ชิง ฮวง ถือหุ้นแทน หลังจากนายเชียงชวน ฮวง ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2536 ศาลมีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ก่อนที่โจทก์จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก พันตำรวจเอกถาวรและนางเชนฮุย ชิง ฮวง ได้โอนหุ้นที่ถือไว้แทนนายเชียง ชวน ฮวง ให้แก่จำเลยทั้งสอง หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้แทนชั่วคราวของบริษัททั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 73 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้วจำเลยทั้งสองได้นำคำพิพากษาของศาลไปจดทะเบียนเป็นกรรมการชั่วคราวของบริษัททั้งสอง มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยทั้งสองออกจากการเป็นกรรมการชั่วคราวของบริษัทเมืองรุ้ง จำกัด และบริษัทศรีเมืองรุ้ง จำกัดหรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1151 จะบัญญัติว่า อันผู้เป็นกรรมการนั้น เฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นอาจจะตั้งหรือถอนได้ก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นเรื่องการตั้งหรือถอนกรรมการบริษัทโดยที่ประชุมใหญ่จึงมิได้ตัดอำนาจของศาลที่จะถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวที่ศาลตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 73 ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติให้ศาลถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวดังกล่าวก็ตาม ศาลก็มีอำนาจที่จะมีคำสั่งถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวดังกล่าวที่ศาลตั้งได้หากมีเหตุอันสมควร ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หากกฎหมายประสงค์จะให้ศาลมีอำนาจถอนผู้แทนนิติบุคคลชั่วคราวที่ศาลตั้งขึ้นก็ย่อมจะบัญญัติไว้แต่ไม่ปรากฏว่าได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดนั้น ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

Share