คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4046/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่า สัญญาค้ำประกันที่ น.ภริยาโจทก์ทำไว้แก่จำเลยเป็นนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการจัดการสินสมรสโจทก์ไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนก็ตาม แต่ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันที่ น.ทำไว้แก่จำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งปัญหาดังกล่าวเกิดจากข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในฟ้องและจากการนำสืบของโจทก์จึงเป็นข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบแม้ไม่ใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิอุทธรณ์เป็นประเด็นขึ้นมาได้ในชั้นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคสอง สัญญาค้ำประกันที่น.ยอมผูกพันตนต่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ ส.เพื่อชำระหนี้เมื่อส.ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เป็นสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680ซึ่งผูกพันตัว น.มิได้เกี่ยวกับสินสมรสและมิใช่เป็นการจัดการสินสมรสตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาตรา 1476,1477 ที่โจทก์ซึ่งเป็นสามีจะต้องให้ความยินยอมร่วมกันเป็นหนังสือตามมาตรา 1479 โจทก์จึงขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันดังกล่าวตามมาตรา 1480 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2528 นางนิดาภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ได้ทำสัญญาเข้าเป็นผู้ค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของนางสาวสุวารี คุ้มเมฆ ในวงเงิน 300,000บาท ไว้แก่จำเลย โดยนำบัญชีเงินฝากประเภทฝากประจำวางไว้เป็นหลักประกัน ซึ่งเงินฝากตามบัญชีดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนางนิดา ในการทำสัญญาค้ำประกันนั้น โจทก์มิได้ให้ความยินยอม ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2529 นางนิดาถึงแก่กรรม การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ได้บอกล้างสัญญาค้ำประกันแล้ว ขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกัน
จำเลยให้การว่า จำเลยตกลงทำสัญญาค้ำประกันด้วยความสุจริตตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารพาณิชย์ โจทก์ทราบถึงการทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2528 อันเป็นวันทำสัญญาแล้วและได้ให้สัตยาบัน โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกหรือเพิกถอนสัญญาค้ำประกันภายใน 1 ปี นับแต่วันทราบ สัญญาค้ำประกันยังผูกพันนางนิดา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันการจำนำเงินฝากประจำฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2528 ระหว่างจำเลยกับนางนิดา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนเฉพาะสัญญาจำนำที่นางนิดานำบัญชีเงินฝากประเภทฝากประจำประกันไว้แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2528 ระหว่างนางนิดาผู้ค้ำประกันกับจำเลยโดยแนบสำเนาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสัญญาค้ำประกันและบันทึกการจำนำเงินฝากประจำมาท้ายฟ้องและนำสืบสัญญาและบันทึกดังกล่าวไว้ด้วยตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งมีบันทึกการจำนำเงินฝากประจำต่อท้ายเอกสารหมาย จ.4แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าสัญญาค้ำประกันที่นางนิดาทำไว้แก่จำเลยเป็นนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการจัดการสินสมรส โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนก็ตาม แต่ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันที่นางนิดาทำไว้แก่จำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งปัญหาดังกล่าวเกิดจากข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในฟ้องและจากการนำสืบของโจทก์ด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบ แม้ไม่ใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นจำเลยก็มีสิทธิอุทธรณ์เป็นประเด็นขึ้นมาได้ในชั้นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.3หรือไม่นั้น เห็นว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่านางนิดาเป็นผู้ค้ำประกันผู้กู้ยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีของนางสาวสุวารีผู้กู้จนกว่าจำเลยผู้ให้กู้จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง โดยตกลงยินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้กู้ถ้าผู้กู้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้นทันที เป็นสัญญาที่นางนิดายอมผูกพันตนต่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนางสาวสุวารีเพื่อชำระหนี้เมื่อนางสาวสุวารีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้จึงเป็นสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ซึ่งผูกพันตัวนางนิดาที่จะต้องรับผิดต่อจำเลยหากนางสาวสุวารีไม่ชำระหนี้มิได้เกี่ยวกับสินสมรสและมิใช่เป็นการจัดการสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาตรา 1476,1477 ที่โจทก์ซึ่งเป็นสามีจะต้องให้ความยินยอมร่วมกันเป็นหนังสือตามมาตรา 1479 แต่อย่างใด โจทก์จึงขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันดังกล่าวตามมาตรา 1480 ไม่ได้
พิพากษายืน

Share