แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีขอให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาทจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้รวมการพิจารณาคดีที่โจทก์ฟ้องเข้ากับคดีที่โจทก์อีกคนหนึ่งฟ้องจำเลยที่ศาลแขวงพระนครเหนือ โดยขอให้โอนคดีไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลแขวงพระนครเหนือ แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต เช่นนี้จำเลยหาอาจยื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 6,8ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ได้ไม่เพราะคดีอาญานั้นมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 23,26บัญญัติเรื่องการโอนคดีไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตราดังกล่าวมาปรับแก่กรณีของจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ฯมาตรา 48 และสั่งให้จำเลยทั้งสองประกาศแจ้งความคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ สยามรัฐ แนวหน้าบ้านเมือง กำหนดฉบับละ 15 วัน ติดต่อกันและหนังสือพิมพ์สุดสัปดาห์มติชน จำนวน 4 ฉบับติดต่อกัน โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ศาลจังหวัดปัตตานีไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2530 และเพิ่มเติมคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีว่า การกระทำความผิดเรื่องเดียวกันนี้นายเด่น โต๊ะมีนา ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาหมิ่นประมาทนายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์ หรือโต๊ะมีนา ผู้ตาย โดยการโฆษณาทางเอกสารหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกับที่ฟ้องเป็นคดีนี้ ต่อศาลแขวงพระนครเหนือเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3762/2530 และโดยที่โจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีทั้งสองเรื่องเป็นคนเดียวกัน คดีทั้งสองเรื่องมีประเด็นอย่างเดียวกัน เกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกันและเป็นกรรมเดียวกัน คดีทั้งสองเรื่องศาลเพียงแต่สั่งประทับฟ้องไว้จำเลยมีภูมิลำเนาและมูลคดีเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือและโจทก์เป็นผู้มีอิทธิพลในทางการเงินและในทางการเมืองเพราะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การรวมพิจารณาคดีทั้งสองเรื่องที่ศาลแขวงพระนครเหนือจะเป็นการสะดวกต่อศาล ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองรวมกัน โดยโอนคดีนี้ไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลแขวงพระนครเหนือ โจทก์แถลงคัดค้านว่า โจทก์ทั้งสองคดีเป็นคนละคนกันและพยานโจทก์หลายปากอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดปัตตานีซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้ ศาลจังหวัดปัตตานีได้มีหนังสือสอบถามไปยังศาลแขวงพระนครเหนือว่า จะขัดข้องในการรับโอนคดีนี้ไปรวมพิจารณากับคดีหมายเลขดำที่ 3762/2530 ของศาลแขวงพระนครเหนือหรือไม่ซึ่งศาลแขวงพระนครเหนือตอบขัดข้องการโอนคดีดังกล่าว โจทก์จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลแขวงพระนครเหนือ โดยขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลจังหวัดปัตตานีจำหน่ายคดีนี้เสียจากสารบบความ หรือโอนคดีไปยังศาลแขวงพระนครเหนือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 6, 7, 8 อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ในคดีอาญาการยื่นคำร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ขอให้โอนคดี ตลอดทั้งการส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาดในกรณีนี้ ไม่อาจกระทำได้ เพราะได้มีบทบัญญัติโดยเฉพาะแล้วตามภาค 1 ลักษณะ 2 หมวด 3 อำนาจศาล มาตรา 23 และมาตรา 26 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านคำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 23 และมาตรา 26 ไม่อาจนำมาใช้แก่คดีนี้ได้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 6, 8 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15มาอนุโลมใช้บังคับแก่กรณีของจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้น การยื่นคำร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ตลอดจนการส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาดในกรณีนี้โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 6, 8 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15จะกระทำได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีอาญา การโอนคดีได้มีบัญญัติไว้แล้วตามมาตรา 23 และมาตรา 26 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับมาในฎีกาว่า มาตรา 23 และมาตรา 26ไม่อาจนำมาปรับแก่กรณีของจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติเรื่องการโอนคดีไว้โดยเฉพาะแล้วก็ไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 6, 8 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มาปรับแก่กรณีของจำเลยที่ 1 ได้ คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน