คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่เกิดเหตุได้พบกลุ่มเยาวชนกำลังขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่และข่มขืนใจเจ้าพนักงานสรรพสามิตให้ปล่อยตัว อ. ผู้ต้องหา ให้คืนสุราแช่ของกลาง ให้มอบบันทึกการจับกุมและการตรวจค้นยึดสุราแช่ จำเลยที่ 1มิได้ทำการจับกุมในทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 1 กล่าวแก่เจ้าพนักงานสรรพสามิตซึ่งทำการจับกุมอ. ผู้ต้องหาว่า “โคตรแม่มึงเวลาเขาลักขโมยความไป 2-3 วันตามหาไม่เจอ เวลามีสุราทำไมจับเร็วนัก พวกคุณมาสร้างปัญหา คุณไม่ต้องมามองหน้าผมหรอก คุณเป็นหัวหน้าส่วนกระจอก ๆ ผมไม่กลัวคุณหรอก ใหญ่กว่านี้ผมก็ไม่กลัว” เป็นการพูดเปรยขึ้นมาเพื่อประชดประชันว่า ทำไมเรื่องสุราจับเร็วนัก และเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ หาใช่เป็นการสบประมาทเหยียดหยามดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา83, 91, 136, 138, 139, 140, 142, 157, 158, 165, 184, 191 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 140, 142, 157, 165, 184, 191เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 5 ปี และผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 อีกกระทงหนึ่งจำคุก 3 เดือน เรียงกระทงลงโทษรวมจำคุก5 ปี 3 เดือน จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 140, 142, 184, 191 วรรคสาม เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา191 วรรคสาม จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี จำเลยที่ 3 อายุไม่เกิน17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน คำขออื่นให้ยก โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1และที่ 3 แต่ละกระทง จำคุกไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ขัดขวางการกระทำของกลุ่มเยาวชนต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิตนั้นจะเป็นความผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานสรรพสามิตได้ทำการจับกุมนางอุดม ถินคำเชิดผู้ต้องหาฐานมีสุราแช่ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่นำตัวผู้ต้องหาและสุราแช่ของกลางขึ้นรถยนต์กลับ เมื่อไปถึงปากทางเข้าออกหมู่บ้านภูเขาทอง กลุ่มเยาวชนประมาณ 200 คน มีมีดไม้ จอบ เสียม เป็นอาวุธเข้าทำการปิดล้อมขัดขวางไม่ยอมให้เจ้าพนักงานสรรพสามิตผ่านออกไป ข่มขืนใจให้เจ้าพนักงานสรรพสามิตปล่อยตัวผู้ต้องหาและคืนสุราแช่ของกลาง โดยจำเลยที่ 3 รวมอยู่ในกลุ่มเยาวชนนั้นและยื่นข้อเสนอดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิตส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 15 ที่เกิดเหตุกำลังประชุมสภาตำบลอยู่ที่บ้านคำพอุง มิได้ร่วมกับกลุ่มเยาวชนขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานสรรพสามิตหรือข่มขืนใจเจ้าพนักงานสรรพสามิตให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่แต่อย่างใดนายดาบตำรวจพีระพงษ์เห็นกลุ่มเยาวชนชุมนุมขัดขวางเจ้าพนักงานสรรพสามิตในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ได้เข้าไปบอกให้เลิกขัดขวางแต่กลุ่มเยาวชนไม่ยอมจึงบอกให้จำเลยที่ 2 ไปตามจำเลยที่ 1 ซึ่งกำลังประชุมสภาตำบลอยู่ที่บ้านคำพอุงให้มาช่วยแก้ไขสถานการณ์เมื่อจำเลยที่ 1 มาถึง ได้เข้าไปพูดจากับกลุ่มเยาวชน แต่กลุ่มเยาวชนไม่ยอม เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ นายดาบตำรวจพีระพงษ์เกรงว่าเหตุการณ์จะรุนแรงมากขึ้น จึงเชิญเจ้าพนักงานสรรพสามิตกลับไปที่ทำการชุดคุ้มครองหมู่บ้าน โดยมิได้ควบคุมตัวนางอุดมผู้ต้องหากลับไปด้วย แต่ตามคำเบิกความของนางผุสดี ศรีจำรัสรักษ์นางอุดมผู้ต้องหาก็ได้ติดตามไปยังที่ทำการชุดคุ้มครองหมู่บ้านและเมื่อพันตำรวจตรียุทธนากับนายพงษ์พันธ์ปลัดอำเภอมาถึงที่ทำการชุดคุ้มครองหมู่บ้านก็มิได้จัดการควบคุมตัวนางอุดมผู้ต้องหา แล้วยังได้แนะนำให้เจ้าพนักงานสรรพสามิตฝากไหสุราไว้ที่ทำการชุดคุ้มครองหมู่บ้านและจัดการนำเจ้าพนักงานสรรพสามิตกลับ เมื่อไปถึงปากทางเข้าออกหมู่บ้าน กลุ่มเยาวชนไม่ยอมให้ผ่านออกไป ขอให้มอบบันทึกการจับกุมและบันทึกการตรวจค้นยึดสุราแช่พันตำรวจตรียุทธนาจึงให้พนักงานสรรพสามิตมอบบันทึกดังกล่าวแก่กลุ่มเยาวชน เห็นว่าที่จำเลยที่ 1 เข้าไปพูดจากับกลุ่มเยาวชนบอกให้เลิกขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานสรรพสามิตตามคำขอร้องของนายดาบตำรวจพีระพงษ์ ไม่เป็นการขัดขวางหรือร่วมกับกลุ่มเยาวชนขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานสรรพสามิตแต่อย่างใด แต่เป็นการช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 นายดาบตำรวจพีระพงษ์และพันตำรวจตรียุทธนาได้พบเห็นกลุ่มเยาวชนกำลังกระทำการขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ และข่มขืนใจเจ้าพนักงานสรรพสามิตให้ปล่อยตัวนางอุดมผู้ต้องหา คืนสุราแช่ของกลาง ให้มอบบันทึกการจับกุม บันทึกการตรวจค้นยึดสุราแช่ แล้วมิได้ทำการจับกุมกลุ่มเยาวชนผู้กระทำความผิดในทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ดังนี้ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 139,140, 142, 157, 165, 184 และมาตรา 191 ปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 1กล่าวแก่เจ้าพนักงานสรรพสามิตซึ่งทำการจับกุมนางอุดมผู้ต้องหาว่า “โคตรแม่มึงเวลาเขาลักขโมยควายไป 2-3 วัน ตามหาไม่เจอ เวลามีสุราทำไมจับเร็วนัก พวกคุณมาสร้างปัญหา คุณไม่ต้องมามองหน้าผมหรอก คุณเป็นแค่หัวหน้าส่วนกระจอกกระจอก ผมไม่กลัวคุณหรอกใหญ่กว่านี้ผมก็ไม่กลัว” เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หรือไม่เห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวเป็นการพูดเปรยขึ้นมาเพื่อประชดประชันว่าทำไมเรื่องสุราจับเร็วนักและเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ หาใช่เป็นการสบประมาทเหยียดหยามดูหมิ่นเจ้าพนักงานสรรพสามิตซึ่งกระทำการตามหน้าที่คนหนึ่งคนใดให้ได้รับความเสียหายแต่ประการใด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 เพียงแต่ยื่นข้อเสนอของกลุ่มเยาวชนต่อเจ้าพนักงานสรรพสามิต มิได้มีเจตนาขู่เข็ญข่มขืนใจให้เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 จึงไม่วินิจฉัยให้ แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 มีอายุเพียง 17 ปีเป็นนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิค และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 3เพื่อให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 142, 184 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 184 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี และปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ค่าปรับหากไม่ชำระให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และให้รอการลงโทษจำคุก จำเลยที่ 3ไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share