คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4044/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานสวนป่าไม่มีหน้าที่ขับรถหรืออำนาจสั่งใช้รถได้โดยลำพัง ทั้งไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้รถ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ออกไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานสวนป่าซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา การที่ ป. ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ ซึ่งมิใช่คนงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาขอความช่วยเหลือจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีอาการท้องร่วงให้นำตัวส่งโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 จึงขับรถยนต์บรรทุกซึ่งเป็นรถที่ใช้ในกิจการของจำเลยที่ 2 ไปส่ง ป. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้วไปเกิดเหตุชนกับรถบรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยความเอื้อเฟื้อส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง และกระทำไปโดยพลการนอกเหนือขอบเขตกิจการงานของจำเลยที่ 2 หาใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 238,917 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 230,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 238,917 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 กรกฎาคม 2537) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จนเกิดเหตุชนกับรถยนต์บรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยหรือไม่ โจทก์รับว่าจำเลยที่ 2 มีคำสั่งหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกในวันเกิดเหตุ โดยมีพยานโจทก์มาเบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ 2 ปาก คือ นายประเมต ปัญญาใส ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนายสมคิด วสุนธราสุข พนักงานโจทก์ โดยนายประเมตเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเกิดเหตุ และพยานโจทก์ปากนี้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่าพยานทราบแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ส่วนจะมีหน้าที่ในการขับรถให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ พยานไม่ทราบ ส่วนนายสมคิดพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า พยานเป็นพนักงานของบริษัทโจทก์เป็นผู้ออกไปตรวจสอบอุบัติเหตุคดีนี้ จากการตรวจสอบทราบว่ารถคันที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นของจำเลยที่ 2 โดยมีตราสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 2 ปรากฏที่ท้ายรถ และพยานโจทก์ปากนี้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 แต่ทำงานในตำแหน่งอะไร มีหน้าที่อะไร และจะมีหน้าที่ขับรถด้วยหรือไม่ พยานไม่ทราบ เห็นว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงทางนำสืบของโจทก์คงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกไปจะเป็นการกระทำในทางการที่จ้างหรือไม่ไม่ได้ความชัด ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ซึ่งอ้างจำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นพยานว่าจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานสวนป่าระดับ 1 มีหน้าที่ควบคุมคนงานปลูกสร้างสวนป่า จัดทำทะเบียนจ่ายเงินคนงานและช่วยปฏิบัติงานตามที่หัวหน้างานมอบหมาย วันเกิดเหตุประมาณ 18 นาฬิกา นายประสาท พิลารัตน์ สมาชิกหมู่บ้านป่าไม้มีอาการท้องร่วงมาขอความช่วยเหลือให้จำเลยที่ 1 นำส่งโรงพยาบาล ขณะนั้นมีจำเลยที่ 1 อยู่ในที่ทำงานเพียงคนเดียว จำเลยที่ 1 จึงขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 82-2065 นครราชสีมา นำนายประสาทผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ระหว่างเดินทางกลับจึงเกิดเหตุชนกับรถยนต์บรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ขับรถและไม่มีอำนาจที่จะสั่งใช้รถยนต์หรือนำรถยนต์ออกไปใช้โดยลำพัง นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังมีนายทรงพล อาทรธุระสุข พนักงานบริหารงานบุคคลงานวินัย และนางเดือนฉาย วรกุล หัวหน้าบริหารทั่วไปของจำเลยที่ 2 มาเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์และไม่มีสิทธินำรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ออกไปใช้ วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุออกไปโดยพลการในขณะที่หัวหน้าสวนป่าซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อย่างถูกต้อง หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 1 โดยมีพยานทั้งสองร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วย คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นสรุปว่าจำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุออกไปนอกบริเวณสวนป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาโดยอาศัยโอกาสที่หัวหน้างานสวนป่าไม่อยู่ที่สวนป่าและตนเป็นผู้เก็บรักษากุญแจรถไว้ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล. 3 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 1 โดยให้ตัดเงินเดือน 10% มีกำหนด 3 เดือน ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประกอบด้วยพยานบุคคลและพยานเอกสารมีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่มีแต่คำเบิกความพยานบุคคลลอย ๆ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถหรือมีอำนาจสั่งใช้รถได้โดยลำพัง ทั้งไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้รถดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้จากพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ออกไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานสวนป่าซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา การที่นายประสาทชาวบ้านที่เป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ ซึ่งมิใช่คนงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาขอความช่วยเหลือจากจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีอาการท้องร่วงให้นำตัวส่งโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 จึงขับรถยนต์บรรทุกซึ่งเป็นรถที่ใช้ในกิจการของจำเลยที่ 2 ไปส่งนายประสาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา แล้วไปเกิดเหตุชนกับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย ดังนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยความเอื้อเฟื้อส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง และกระทำไปโดยพลการนอกเหนือขอบเขตกิจการงานของจำเลยที่ 2 หาใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share