คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3985/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกำหนดเงื่อนไขในวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ไม่มีกฎหมายจำกัดให้ศาลกำหนดเงื่อนไขได้เฉพาะตามที่คู่ความร้องขอ เมื่อศาลเห็นว่าวิธีการชั่วคราวเดิมก่อให้เกิดปัญหาแก่คู่ความในการปฏิบัติตามคำสั่งของศาล รวมทั้งมีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวจนทำให้เป็นปัญหาในการพิจารณาเนื้อหาแห่งคดี ศาลชอบที่จะแก้ไขโดยกำหนดวิธีการชั่วคราวใหม่ได้ตามเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายที่จะชนะคดีต่อไป โดยไม่จำต้องรอให้คู่ความยื่นคำร้องขอเข้ามาอีกหรือต้องทำการไต่สวนใหม่ ส่วนที่ศาลอายัดข้อสันนิษฐานของกฎหมายมากำหนดให้แต่ละฝ่ายต่างเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่ตนมีชื่อเป็นผู้ครอบครองในหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินตามคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวที่แก้ไขใหม่นั้นก็เป็นเพียงการยกเหตุผลประกอบดุลพินิจเพื่อให้เห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะกำหนดเงื่อนไขให้เป็นไปเช่นนั้น มิได้เป็นการชี้ขาดตัดสินคดี จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และที่ศาลกำหนดเงื่อนไขในวิธีการชั่วคราวที่แก้ไขใหม่ให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำประโยชน์ในสวนยางพาราพิพาทแทนฝ่ายที่ผิดเงื่อนไขการวางเงินหรือขัดขวางการทำประโยชน์โดยไม่ต้องนำรายได้ส่วนที่เข้าทำประโยชน์แทนการมาวางศาล ก็เป็นไปเพื่อให้ข้อกำหนดที่ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายนำเงินมาวางศาลสัมฤทธิ์ผลอันเป็นประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี จึงเป็นการชอบที่จะกำหนดเงื่อนไขนี้ไว้ได้ คำสั่งของศาลที่กำหนดวิธีการชั่วคราวขึ้นใหม่นี้จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 261 วรรคสามและมาตรา 262 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและสำนวนที่สอง และจำเลยในสำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 และเรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ส่วนผู้ร้องสอดในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนที่สองและเป็นโจทก์ในสำนวนที่สาม เรียกว่า ผู้ร้องสอด
คดีสืบเนื่องมาจากสำนวนแรก โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสวนยางพาราเนื้อที่ประมาณ 13,500 ไร่ ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 กรีดยางพาราและทำให้ต้นยางพาราในที่ดินพิพาทเสียหายขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่และบริวารออกจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้องและจำเลยที่ 4 ฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสี่ทำกิจการสวนยางพาราในที่ดินพิพาทโดยบริษัทงานทวีพี่น้อง จำกัด (ผู้ร้องสอด) ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเป็นผู้มอบหมายให้ทำ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เข้าไปประกอบกิจการสวนยางพาราในที่ดินพิพาท หลังจากฟ้องคดีนี้โดยขัดขวางไม่ให้จำเลยทั้งสี่และบริวารผ่านทางในที่ดินพิพาทเพื่อจะเข้าไปประกอบกิจการสวนยางพาราในที่ดินของจำเลยที่ 4 ซึ่งอยู่นอกที่ดินพิพาท ทำให้จำเลยที่ 4 เสียหาย ขอให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 4
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การแก้ฟ้องแย้งต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โดยให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ครอบครองแทน โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ห้ามกรรมการหรือพนักงานของผู้ร้องสอดเข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสวนยางพารา หลังจากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ฟ้องคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นมา ผู้ร้องสอดจึงขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และหรือส่งมอบที่ดินมือเปล่าให้แก่ผู้ร้องสอด หากไม่ไปจดทะเบียนโอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 หากโอนที่ดินพิพาทไม่ได้ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันใช้ราคาที่ดินและค่าเสียหาย
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดโดยต่อสู้คดี ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องสอด
สำนวนที่สอง โจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า ผู้ร้องสอดนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) รวม 61 แปลง เนื้อที่ 2,152 ไร่ 68 ตารางวา ของนายชัยสิน งานทวี เจ้ามรดกไปจดทะเบียนโอนเป็นของผู้ร้องสอดโดยนายชัยสินไม่รู้เห็นยินยอม ขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดิน 61 แปลง ตามฟ้องระหว่างนายชัยสินผู้ให้สัญญากับผู้ร้องสอดผู้รับสัญญา ให้ผู้ร้องสอดนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ของที่ดินจำนวน 61 แปลง ไปให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขรายการจดทะเบียนเป็นของนายชัยสิน หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของผู้ร้องสอด
ผู้ร้องสอดให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สาม ผู้ร้องสอดฟ้องว่า ผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยใช้ชื่อนายชัยสินถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองแทนจำนวน 217 แปลง ต่อมานายชัยสินโอนที่ดินให้ผู้ร้องสอด และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 โจทก์ที่ 3 ผู้ร้องสอดปลูกต้นยางพาราไว้ในที่ดินดังกล่าว โจทก์ที่ 6 กับพวกโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินของผู้ร้องสอดและนำน้ำยางพาราของผู้ร้องสอดไปตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2541 เป็นต้นมา ทำให้ผู้ร้องสอดเสียหาย ขอให้บังคับโจทก์ที่ 6 และบริวารขนย้ายทรัพย์ออกไปและห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินของผู้ร้องสอด ให้โจทก์ที่ 6 ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องสอด
โจทก์ที่ 6 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ในวันฟ้องสำนวนแรก โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน โดยขอให้จำเลยทั้งสี่และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามเกี่ยวข้อง ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เข้าครอบครองดูแลทำประโยชน์ที่ดินพิพาท กรีดยางพารา และนำน้ำยางพาราไปขายแก่บุคคลภายนอกได้
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 ว่า ให้จำเลยทั้งสี่และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเข้าไปอยู่อาศัยในอาคารและกรีดยางพาราในที่ดินพิพาทจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันหรือคนใดคนหนึ่งวางหลักประกันความเสียหายของจำเลยทั้งสี่จำนวน 3,000,000 บาท
จำเลยทั้งสี่และผู้ร้องสอดยื่นคำขอโดยพลัน ขอให้ยกเลิกคำสั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องอีกสามฉบับขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาด้วยการห้ามโจทก์ทั้งหกและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องครอบครองที่ดินและอาคารกับห้ามกรีดยางพาราในที่ดินพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 นำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและบัญชีรายรับรายจ่ายในการกรีดยางพาราและการจำหน่ายน้ำยางพารามาวางศาลทุก 10 วัน นับแต่วันมีคำขอ หรือให้มีการประมูลเพื่อประกอบกิจการสวนยางพาราในที่ดินพิพาทในระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 กับผู้ร้องสอด
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องและไม่ขอประมูล
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งลงวันที่ 24 สิงหาคม 2543 แก้ไขคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 เป็นว่า ให้ผู้ร้องสอดและจำเลยที่ 4 เข้าไปดูแลบำรุงรักษาต้นยางพาราและกรีดยางพาราในที่ดินพิพาทได้เฉพาะที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 . หรือน.ส. 3 ก) ที่ระบุชื่อผู้ร้องสอด 61 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2,100 ไร่ และที่ระบุชื่อจำเลยที่ 4 จำนวน 101 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2,200 ไร่ นับแต่วันมีคำสั่ง โดยให้ผู้ร้องสอดและจำเลยที่ 4 ร่วมกันนำเงินรายได้มาวางศาลเดือนละ 1,500,000 บาท ห้ามโจทก์ทั้งหกและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนดังกล่าว ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 นำเงินรายได้มาวางศาลเดือนละ 3,000,000 บาท การวางเงินให้นำมาวางภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไปทุกเดือนให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในการดูแลรักษาและกรีดน้ำยางพารานับแต่วันมีคำสั่ง และให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันนำเงินจำนวน 60,000,000 บาท หรือตั๋วเงินที่ออกหรือรับรองโดยธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินตามกฎหมายหรือนำทรัพย์สินอื่นมาวางศาลเป็นประกันการชำระเงินจำนวนดังกล่าวต่อศาลภายใน 60 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งที่คุ้มครองฝ่ายนั้นทั้งหมด คำขออื่นให้ยก
ต่อมาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ยื่นหลักประกันเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.)
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และผู้ร้องสอดคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 ให้รับที่ดิน 5 แปลง ตามคำร้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2543 เป็นหลักประกันตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และไม่รับหลักประกันที่ดินจำนวน 15 แปลง ที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 นำมาเพื่อวางประกันเพิ่มเติม แต่ให้โอกาสโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เสนอหลักประกันเข้ามาใหม่ในนัดหน้าโดยยังไม่ถือว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ผิดข้อกำหนดตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 วางหลักประกันไม่ครบถ้วนตามกำหนดต้องยกเลิกวิธีการคุ้มครองชั่วคราวของฝ่ายโจทก์และหลักประกันของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ศาลชั้นต้นรับไว้นั้นถูกจำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดคัดค้านศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนเสียก่อนมีคำสั่งรับประกัน ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้รับหลักประกันของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอด ให้รับหลักประกันที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ยื่นเพิ่มเติม
ต่อมาปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการนำเงินรายได้มาวางศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งลงวันที่ 25 มกราคม 2544 ให้เพิกถอนหมายห้ามชั่วคราวฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 ที่ห้ามจำเลยทั้งสี่และผู้ร้องสอดเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและเพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทบางส่วน โดยแก้ไขเป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งหมด ให้จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดนำรายได้จากการกรีดยางพารามาวางศาลเดือนละ 4,500,000 บาท และจัดทำบัญชีรับจ่ายในการดูแลรักษาสวนยางพาราและรายได้จากการกรีดยางพารายื่นต่อศาลทุกวันที่ 10 ของเดือน ให้ฝ่ายโจทก์พร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท
ครั้นวันที่ 20 เมษายน 2544 จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอให้หักเงินค่าใช้จ่ายในการทำสวนยางพาราพิพาทจากเงินที่นำมาวางศาลแก่จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและเห็นว่า จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดวางเงินรายได้ไม่ครบ จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 25 มกราคม 2544 และให้นัดพร้อมเพื่อพิจารณาใช้วิธีการชั่วคราวโดยการให้คู่ความประมูลเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ให้ฝ่ายจำเลยและผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนถึงวันนัดดังกล่าว
ในวันนัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ยให้คู่ความประมูลเข้าทำประโยชน์ คู่ความตกลงกันไม่ได้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 ว่า ให้จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ตนมีชื่อเป็นเจ้าของตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก.) เนื้อที่ประมาณ 4,252 ไร่ ส่วนที่เหลือปรากฏชื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าของเนื้อที่ประมาณ 8,700 ไร่ ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เข้าทำประโยชน์ และให้นำรายได้จากการกรีดยางพารามาวางศาลสำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เดือนละ 600,000 บาท จำเลยที่ 4 กับผู้ร้องสอดเดือนละ 300,000 บาท เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2544 เป็นต้นไป ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 นำเงินรายได้จากการเข้าทำประโยชน์ในสวนยางพาราเนื้อที่ 8,700 ไร่ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2544 เป็นเวลา 25 วัน คิดเป็นเงิน 500,000 บาท และให้จำเลยที่ 4 กับผู้ร้องสอดนำเงินรายได้จากการทำประโยชน์ในสวนยางพาราพิพาททั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 เป็นเวลา 4 เดือน คิดเป็นเงิน 3,600,000 บาท มาวางศาลก่อนเข้าทำประโยชน์ตามคำสั่งนี้พร้อมวางเงินในแต่ละเดือนที่แต่ละฝ่ายต้องนำมาวางศาลล่วงหน้าเท่ากับรายได้ที่กำหนดตามคำสั่งนี้ก่อนเข้าทำประโยชน์ในแต่ละเดือนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามและกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางมิให้อีกฝ่ายเข้าทำประโยชน์ ให้คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวของฝ่ายนั้นเป็นอันยกเลิกไปทันที แล้วให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำประโยชน์แทนโดยไม่ต้องนำรายได้ส่วนที่เข้าทำประโยชน์แทนมาวางศาล
ต่อมาจำเลยที่ 3 ที่ 4 และผู้ร้องสอดยื่นคำร้องมีใจความทำนองเดียวกันว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ตัดโค่นต้นยางพาราในที่ดินพิพาทนำไปขายโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ห้ามโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ตัดต้นยางพาราในที่ดินพิพาท และเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว สำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ขนย้ายทรัพย์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้นำเงินที่ได้จากการขายไม้ยางพาราดังกล่าวมาวางศาลกับให้จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทน
โจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ตัดโค่นต้นยางพาราเพื่อปลูกต้นยางพาราใหม่ทดแทนและได้รับอนุญาตจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางด้วยวาจาแล้ว และขออนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ต้องนำเงินรายได้มาวางศาลตามคำสั่งดังกล่าว
จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดคัดค้าน โดยถือว่าฝ่ายโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 4 ตุลาคม 2544 กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมคำสั่งลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 ห้ามคู่ความทุกฝ่ายกระทำการใด ๆ ที่ทำให้ทรัพย์สินพิพาทคือที่ดินและต้นยางพาราเสียหายหรือเสื่อมค่า หากฝ่ายใดฝ่าฝืนให้บังคับตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว และสั่งให้ไต่สวนเรื่องการตัดโค่นต้นยางพาราไปขายเพื่อให้มีการนำเงินที่ได้จากการนั้นมาวางศาล ส่วนการที่ฝ่ายโจทก์ไม่วางเงินเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง แต่พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง จึงให้โอกาสฝ่ายโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งโดยนำเงินรายได้ 600,000 บาท มาวางศาลในวันที่ 8 ตุลาคม 2544
สำหรับการตัดโค่นต้นยางพาราไปขายศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 ให้โจทก์ที่ 4 นำเงินงวดแรกที่ได้จากการตัดต้นยางพาราในที่ดินพิพาทไปขายจำนวน 400,000 บาท มาวางศาลภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ให้ฝ่ายโจทก์เข้าทำประโยชน์
โจทก์ทั้งหกวางเงินรายได้ตามคำสั่งศาล ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2544 แต่ต่อมายื่นคำร้องขอลดเงินรายได้ที่ต้องวางศาลตามที่ศาลเห็นสมควรเนื่องจากรายได้จากการขายน้ำยางพาราลดลงและฝ่ายจำเลยเอาอุปกรณ์การทำสวนยางพาราไปก่อนที่จะฝ่ายโจทก์จะกลับเข้าไปทำประโยชน์
จำเลยทั้งสี่และผู้ร้องสอดคัดค้าน
ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วมีคำสั่งลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งหก
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และผู้ร้องสอดยื่นคำร้องมีใจความทำนองเดียวกันว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่นำเงินมาวางศาลภายในกำหนดและไม่นำเงิน 400,000 บาท ที่ได้จากการตัดต้นยางพาราไปขายมาวางศาลตามคำสั่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ขอให้ยกเลิกคำสั่งที่คุ้มครองชั่วคราวสำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ให้โจทก์ทั้งหกขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากสวนยางพาราพิพาท ให้จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนโดยไม่ต้องนำรายได้ส่วนที่เข้าทำประโยชน์แทนมาวางศาล และห้ามโจทก์ทั้งหกกระทำการอันเป็นการรบกวนการเข้าทำประโยชน์ของจำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอด
ศาลชั้นต้นสอบถามแล้ว ทนายโจทก์ที่ 4 แถลงว่า ไม่ได้นำเงินมาวางศาลเพราะโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 อุทธรณ์คำสั่งและยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ
ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งลงวันที่ 27 มีนาคม 2545 ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่วางเงินตามคำสั่งโดยเข้าใจว่ามีสิทธิเนื่องจากรอฟังคำสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ เป็นการกระทำครั้งแรก ยังฟังไม่ได้ชัดว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เมื่อคำนึงถึงทรัพย์สินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่มากกว่า 8,000 ไร่ เกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมากที่ต้องขนย้าย หากมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง มีเหตุอันควรปรานี จึงให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันหรือคนใดคนหนึ่งนำเงินรายได้ 1,800,000 บาท และสำหรับโจทก์ที่ 4 นำเงินได้จากการขายไม้ยางพารา 400,000 บาท มาวางศาลภายในวันที่ 10 เมษายน 2545 มิฉะนั้นจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงต่อไป
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์คำสั่งรวม 3 ฉบับ จำเลยทั้งสี่และผู้ร้องสอดอุทธรณ์คำสั่งรวม 6 ฉบับ
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งหกฎีการวม 3 ฉบับ จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดฎีการวม 5 ฉบับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดที่ว่าการกำหนดให้ใช้วิธีการชั่วคราวตามคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 ชอบแล้วหรือไม่นั้น คำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องมาจากในระหว่างพิจารณาผู้ร้องสอดขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวโดยให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ฝ่ายหนึ่ง จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่แต่ละฝ่ายมีชื่อเป็นผู้ครอบครองตามหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินตามคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 24 สิงหาคม 2543 แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขวิธีการชั่วคราวให้ยกเลิกการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 โดยให้จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งหมดตามคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 25 มกราคม 2544 และหลังจากนั้นมีการแก้ไขวิธีการชั่วคราวให้ยกเลิกการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งหมดของจำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดอีกตามคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 20 เมษายน 2544 ตามที่จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดฎีกา แต่ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นฉบับหลังนี้ได้กำหนดไว้ด้วยว่า ให้จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทไปพลางก่อนจนถึงวันนัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ยให้คู่ความประมูลเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท กรณีเป็นการแก้ไขคำสั่งชั่วคราวโดยยังคงกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวไว้ และมิได้เป็นการยกคำร้องของจำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดที่ให้ใช้วิธีการชั่วคราวดังกล่าวข้างต้น เมื่อถึงวันนัดพร้อมดังกล่าวคู่ความตกลงกันไม่ได้ ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า วิธีการชั่วคราวเดิมนั้นก่อให้เกิดปัญหาแก่คู่ความในการนำเงินมาวางศาล รวมทั้งมีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวจนทำให้เป็นปัญหาในการพิจารณาเนื้อหาแห่งคดี จึงมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะแก้ไขโดยกำหนดวิธีการชั่วคราวใหม่ได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี ไม่มีบทกฎหมายจำกัดให้กำหนดเงื่อนไขในวิธีการชั่วคราวได้เฉพาะตามที่คู่ความร้องขอกรณีเช่นนี้จึงอาจนำวิธีการชั่วคราวตามที่อีกฝ่ายหนึ่งขอมากำหนดไว้ด้วยก็ได้โดยไม่จำต้องรอให้คู่ความยื่นคำร้องขอเข้ามาอีกหรือต้องทำการไต่สวนใหม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดเป็นฝ่ายได้สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามข้อกำหนดในวิธีการชั่วคราวเดิมต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไข วิธีการชั่วคราวใหม่จึงมีเหตุสมควรเพียงพอที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 กำหนดให้จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดนำเงินจากการเข้าทำประโยชน์ในสวนยางพาราพิพาทในระหว่างเวลาดังกล่าว จำนวน 3,600,000 บาท มาวางศาลได้ ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขข้อนี้ชอบแล้ว ส่วนที่ศาลชั้นต้นอาศัยข้อสันนิษฐานของกฎหมายมากำหนดให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ฝ่ายหนึ่ง จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดอีกฝ่ายหนึ่งต่างเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่แต่ละฝ่ายมีชื่อเป็นผู้ครอบครองในหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินตามคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวที่แก้ไขใหม่นั้น เป็นเพียงการยกเหตุประกอบดุลพินิจในการกำหนดเงื่อนไขข้อนี้เพื่อให้เห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะกำหนดเงื่อนไขให้เป็นไปเช่นนั้น มิได้เป็นการชี้ขาดตัดสินคดี จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขในวิธีการชั่วคราวที่แก้ไขใหม่ให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำประโยชน์ในสวนยางพาราพิพาทแทนฝ่ายที่ผิดเงื่อนไขการวางเงินหรือขัดขวางการทำประโยชน์โดยไม่ต้องนำรายได้ส่วนที่เข้าทำประโยชน์แทนการมาวางศาล ก็เป็นไปเพื่อให้ข้อกำหนดที่ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายนำเงินมาวางศาลสัมฤทธิ์ผลอันเป็นประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี จึงเป็นการชอบที่จะกำหนดเงื่อนไขนี้ไว้ได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 261 วรรคสาม และมาตรา 262 วรรคหนึ่ง แล้ว ในชั้นนี้ไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะกำหนดให้ใช้วิธีการชั่วคราวโดยให้จำเลยที่ 4 และผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเพียงฝ่ายเดียว…”
พิพากษายืน

Share