คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาทรัสต์รีซีทเป็นสัญญาที่สืบเนื่องกับสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นแก่โจทก์ในกำหนดเวลาตามสัญญาทรัสต์รีซีทพร้อมดอกเบี้ย และได้รับเอกสารจากโจทก์ไปก่อน ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมมีผลผูกพันให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยภายในกำหนดเวลา ส่วนที่ตามสัญญาดังกล่าวระบุข้อความทำนองให้โจทก์ยังคงมีสิทธิในสินค้านั้นก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ได้โดยสะดวกเท่านั้น สัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้สินเชื่อของโจทก์และการได้รับชำระหนี้จากการให้สินเชื่อเป็นสามัญ มิใช่สัญญาซึ่งโจทก์มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนนำสินค้าออกไปจำหน่ายแทนโจทก์อันจะมีผลให้สัญญาทรัสต์รีซีทระงับไปแล้วผูกพันกันตามสัญญาตัวการตัวแทนดังที่จำเลยฎีกา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท
สัญญาทรัสต์รีซีทระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 16 ต่อปี ซึ่งตรงกับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับสินเชื่อทั่วไปตามประกาศของธนาคารโจทก์ที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญานั้นและตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวไม่มีข้อสัญญาให้คิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราสินเชื่อผิดนัดซึ่งมีอัตราสูงขึ้นกว่าอัตราสินเชื่อทั่วไปแต่อย่างใด แต่โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยจากหนี้ต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระนับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดตลอดมาเป็นการคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องซึ่งทำให้จำเลยทั้งสามต้องชำระหนี้เกินกว่าจำนวนหนี้ที่ต้องชำระจริง อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขถูกต้องได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้จำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 316,609.38 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้จำนวน 361,744.24 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 316,609.38 บาท ถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ดังกล่าว ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เพียงเฉพาะในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของสัญญาซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการรับสินค้าออกไปจำหน่ายแล้วโจทก์เรียกเอาเงินค่าสินค้าจากตัวแทนเท่านั้นหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า ในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์นั้น ตามประเพณีและพิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเครดิตที่มีเอกสารประกอบกรรมสิทธิ์ในสินค้าเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อรับเอกสารสิทธิในการรับสินค้าจากโจทก์ไปรับสินค้าแทนโจทก์ แล้วนำออกขายรับเงินไว้ในนามของโจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าดังกล่าวแล้ว สัญญาทรัสต์รีซีทย่อมสิ้นสุดลง โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกร้องในฐานะเป็นตัวการเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนคืนเงินค่าสินค้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้องอีกแต่อย่างใด และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดด้วย เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องการสินค้าจึงสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและผู้ขายในประเทศญี่ปุ่น เมื่อผู้ขายตกลงขายก็มีหน้าที่ส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ต้องชำระสินค้าแก่ผู้ขาย แต่ในการชำระราคาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อให้โจทก์ชำระเงินแก่ผู้ขายแต่ละราย โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นพร้อมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ แสดงว่าการที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวนี้เป็นวิธีการเพื่อการชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายให้โจทก์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเป็นผู้ยอมตนเข้าชำระเงินนั้นแก่ผู้ขายเอง อันเป็นการให้สินเชื่อที่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมต้องการได้รับชำระหนี้สินเชื่อนี้จากจำเลยที่ 1 และเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับชำระหนี้ดังกล่าว การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตก็มีเงื่อนไขให้ผู้ขายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตขอรับเงินได้ เมื่อยื่นเอกสารถูกต้องครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเอกสารที่จะใช้ในการขอรับสินค้าจากผู้ขนส่ง เพื่อโจทก์จะได้ยึดเอกสารดังกล่าวไว้และจำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนจึงจะได้รับเอกสารนั้นอันเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ต้องการไปใช้ประโยชน์ในการรับสินค้าได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระหนี้และต้องการเอกสารจากโจทก์ไปก่อน จึงมีการทำสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งเป็นสัญญาที่สืบเนื่องกับสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นแก่โจทก์ในกำหนดเวลาตามสัญญาทรัสต์รีซีทพร้อมดอกเบี้ย และได้รับเอกสารจากโจทก์ไปก่อน ข้อตกลงตามสัญญาเช่นนี้ก็เป็นเรื่องการให้สินเชื่อของโจทก์ซึ่งย่อมมีผลผูกพันให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยภายในกำหนดเวลาตามสัญญาทรัสต์รีซีทนั้นโดยตรง ส่วนที่ตามสัญญาดังกล่าวระบุข้อความทำนองให้โจทก์ยังคงมีสิทธิในสินค้านั้นก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่มีวัตถุประสงค์ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ได้โดยสะดวกเท่านั้น สัญญาทรัสต์รีซีทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้สินเชื่อของโจทก์และการได้รับชำระหนี้จากการให้สินเชื่อเป็นสำคัญ มิใช่สัญญาซึ่งโจทก์มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนนำสินค้าออกไปจำหน่ายแทนโจทก์อันจะมีผลให้สัญญาทรัสต์รีซีทระงับไป แล้วผูกพันกันตามสัญญาตัวการตัวแทนดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์มาแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้องของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกประการหนึ่งว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำฟ้องเฉพาะในส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระขาดอายุความเพียงใดหรือไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ และตามคำให้การดังกล่าวก็ระบุถึงวันเริ่มนับอายุความถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ แสดงให้เห็นว่า เป็นคำให้การประสงค์จะยกอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยของต้นเงินที่เป็นหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ นั่นเอง ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว เห็นว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีท 2 ฉบับ อันเป็นสัญญาที่ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำฟ้องมีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาย่อมถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้นั้นคือ วันที่ 17 มิถุนายน 2536 และ 19 สิงหาคม 2536 ตามลำดับ อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 โดยเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวตลอดมา ซึ่งเกินกว่า 5 ปี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยที่ค้างชำระเฉพาะส่วนเกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) โจทก์จึงเรียกร้องดอกเบี้ยตามคำฟ้องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เฉพาะส่วนที่นับถึงวันฟ้องไม่เกิน 5 ปี เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันที่ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นกรณีความรับผิดของจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันที่ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นกรณีการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย
อนึ่ง ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีทระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 16 ต่อปี ซึ่งตรงกับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับสินเชื่อทั่วไปตามประกาศของธนาคารโจทก์ฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536 ที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญานั้น และตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวไม่มีข้อสัญญาให้คิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราสินเชื่อผิดนัดซึ่งมีอัตราสูงขึ้นกว่าอัตราสินเชื่อทั่วไปแต่อย่างใด แต่โจทก์กลับคิดดอกเบี้ยจากหนี้ต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระนับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดตลอดมา เป็นการคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องซึ่งทำให้จำเลยทั้งสามต้องชำระหนี้เกินกว่าจำนวนหนี้ที่ต้องชำระจริงอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขถูกต้องได้เองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นต้นเงินจำนวน 316,609.38 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 กันยายน 2544) ย้อนหลังไป 5 ปี และถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ที่ใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลาทั้งก่อนวันฟ้องและที่ประกาศหลังวันฟ้อง แต่อัตราดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องต้องไม่เกินร้อยละ 16 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปต้องไม่เกินร้อยละ 14 ต่อปี ตามคำฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share