แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ตายเป็นผู้เขียนพินัยกรรมด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับพินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 โดยหาจำต้องมีพยานพินัยกรรมไม่ ข้อความในบันทึกของผู้ตายมีว่า “ถ้าหากช่วงต่อไปฉันมีอันที่จะต้องตายจากไป ฉันมีทรัพย์สินทั้งหมดที่เห็น ๆ อยู่นี้ ฯลฯในใจจริงนั้นคิดจะยกให้กับต่าย ผู้ซึ่งเป็นลูกสาวของน้าสาวคนเล็กซึ่งฉันเห็นว่าเขาเป็นผู้มีสติปัญญาที่ดี ฉันเพียงแต่คิดว่าฉันจะควรที่ฉันจะยกข้าวของซึ่งเป็นของฉันให้ต่าย ฯลฯ ส่วนข้าวของอย่างอื่นก็แล้วแต่บรรดาญาติจะเห็นสมควรจะให้อะไรแก่เด็กเหล่า บ้างฯลฯ (ทรัพย์สมบัติเหล่านี้ ขอยกเว้นไม่มีการแบ่งให้กับแม่และลูก ๆของแม่ทุกคนโดยเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น) ในข้อความทั้งหมดที่เขียนมานี้ ฉันมีสติดีทุกประการ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากฉันเองก็ขอให้ถือว่านี้คือการสั่งเสีย ฯลฯ แล้วลงชื่อ น.ส.ยุพินฉัตรพงศ์เจริญ(พิน)” ซึ่งตามบันทึกดังกล่าวมีข้อความว่าเมื่อผู้เขียนตายไปทรัพย์สินของตนให้แก่ใครบ้าง มีใครบ้างที่ไม่ยอมให้และลงท้ายด้วยว่ามีสติดี จึงเข้าลักษณะพินัยกรรมตามมาตรา 1646,1647 แล้ว หาใช่บันทึกบรรยายความคิดความรู้สึกในใจเท่านั้นไม่ ผู้คัดค้านฎีกาในข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีเพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัยให้.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรผู้เยาว์ของนางเสาวรีย์และเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมของนางสาวยุพินผู้ตาย ผู้ตายมีทายาทคือมารดาและพี่น้องร่วมมารดาของผู้ตายซึ่งถูกตัดออกจากกองมรดกตามพินัยกรรมดังกล่าวแล้ว กับน้าคือนางเสาวรีย์มารดาผู้ร้องผู้ตายมีทรัพย์มรดกแต่มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมมิได้เป็นบุคคลผู้ต้องห้ามตามกฎหมายมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้ร้อง (ที่ถูกควรเป็นมารดาผู้ร้อง) เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นมารดาและเป็นทายาทโดยธรรมเพียงผู้เดียวของผู้ตาย จึงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวของผู้ตาย ผู้ร้องไม่ได้เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกจึงไม่มีสิทธิรับทรัพย์มรดก ผู้ร้องมิได้มีส่วนได้เสีย ไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก บันทึกของผู้ตายที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นพินัยกรรม ผู้ร้องทำปลอมขึ้น ข้อความที่เขียนและลายมือชื่อไม่ใช่ของผู้ตาย ข้อความในบันทึกทั้งหมดไม่ปรากฏข้อความตอนใดระบุว่าเป็นพินัยกรรมที่ได้ทำไว้เผื่อตายในเรื่องทรัพย์มรดกให้ผู้ใด จึงไม่มีผลบังคับใด ๆ ตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางเสาวรีย์ จิตรแสวงทรัพย์ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่านางสาวยุพินผู้ตายเป็นผู้เขียนพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.2 ด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับ ดังนั้น พินัยกรรมจึงสมบูรณ์โดยหาจำต้องมีพยานรับรองพินัยกรรมไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657ที่ผู้คัดค้านฎีกาในประเด็นข้อแรกว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ร.2 ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน และพยานสองคนนั้นมิได้ลงลายมือชื่อไว้พร้อมกันในขณะนั้น เอกสารหมาย ร.2 จึงเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งมีบันทึกอยู่ในท้องสำนวนของศาลชั้นต้นอย่างชัดเจน จึงถือได้ว่าเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และการทำพินัยกรรมผิดแบบเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านนั้น เห็นว่าเป็นฎีกาในข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีเพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยส่วนที่ฎีกาว่า บันทึกตามเอกสารหมาย ร.2 เป็นเรื่องที่ผู้ตายบรรยายความคิดความรู้สึกไว้จึงไม่เป็นพินัยกรรมนั้น เอกสารหมาย ร.2 มีข้อความว่า “ฯลฯ ถ้าหากช่วงต่อไปฉันมีอันที่จะต้องตายจากไป ฯลฯ ฉันมีทรัพย์สินทั้งหมดที่เห็น ๆ อยู่นี้รวมทั้งเงินสดในธนาคาร ที่ดินพร้อมบ้านที่ดอนเมืองพัฒนา ในใจจริงนั้นคิดจะยก ให้กับต่ายหรืออรวรรณ จิตรแสวงทรัพย์ ผู้ซึ่งเป็นลูกสาวของน้าสาวคนเล็กซึ่งฉันเห็นว่าเขาเป็นผู้มีสติปัญญาที่ดี ฉันเพียงแต่คิดว่าฉันจะควรที่ฉันจะยกข้าวของซึ่งเป็นสมบัติของฉันให้ต่าย ก็ขอเพียงว่าให้ต่ายช่วยจัดการให้ที่พักอาศัยแก่เด็ก ฯลฯ ส่วนข้าวของอย่างอื่นก็แล้วแต่บรรดาญาติจะเห็นสมควรจะให้อะไรแก่เด็กเหล่านั้นบ้าง ฯลฯ(ทรัพย์สมบัติเหล่านี้ขอยกเว้นไม่มีการแบ่งให้กับแม่และลูก ๆ ของแม่ทุกคนโดยเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น) ส่วนเงินในธนาคารมีสมุดด้วยในหลายเล่ม บางเล่มจะเขียนหน้าปกว่า ลพ-ตุ่ม-หรือนกนั่นก็คือของเด็ดเหล่านั้น ช่วยจัดการโอนให้ ฯลฯ ในข้อความทั้งหมดที่เขียนมานี้ ฉันมีสติดีทุกประการ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากฉันเองก็ขอให้ถือว่า นี่คือการสั่งเสีย ฯลฯ แล้วลงชื่อ น.ส.ยุพินฉัตรพงศ์เจริญ (พิน)” ตรงข้อความในเอกสารหมาย ร.2 นี้ มีข้อความว่า เมื่อผู้เขียนตายไปทรัพย์สินของตนให้แก่ใครบ้าง มีใครบ้างที่ไม่ยอมให้ และลงท้ายด้วยว่ามีสติดี จึงเข้าลักษณะพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646, 1647 แล้วไม่ใช่เป็นบันทึกบรรยายความคิด ความรู้สึกในใจเท่านั้น
พิพากษายืน.