แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กำหนดเวลาให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30(2)เป็นการกำหนดเวลาให้ฟ้องคดีมิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใด ๆ และถึงแม้ไม่ได้เป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ แต่เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง อันกำหนดไว้ในป.รัษฎากร ศาลมีอำนาจขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จำเลยฟ้องโจทก์ให้ชำระหนี้ภาษีอากรกรณีเดียวกันนั้นศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง ขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า การประเมินชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโจทก์จะต้องอุทธรณ์ต่อศาลใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ แต่ขณะที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น คดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ยังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จึงไม่อาจยื่นฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ อีกทั้งโจทก์ก็ยังไม่มีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลเพราะในขณะนั้นคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางยังมีผลผูกพันคู่ความอยู่พฤติการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่โจทก์ไม่อาจขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ต่อศาลก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยที่ศาลพึงขยายระยะเวลาให้โจทก์ได้ เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42(9) นั้น ต้องเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแสดงว่าต้องพิจารณาเจตนาของผู้ได้มาในขณะได้มาว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่การที่ จ. ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 แล้วทิ้งไว้นานจนถึงปี พ.ศ. 2523 จึงได้ขายไปโดยไม่ปรากฏว่า จ. ได้ปรับปรุงสภาพที่ดินให้ดีขึ้นอันเป็นปกติวิสัยของผู้ที่มีเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไรพึงกระทำและเหตุที่ จ. ซื้อที่ดินมาก็เพื่อหักหนี้ที่สามีของผู้ขายค้างชำระอยู่ส่วนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า จ. ซื้อที่ดินมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เมื่อขายที่ดินแปลงดังกล่าวไปย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ในส่วนนี้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา.
ย่อยาว
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล ศาลภาษีอากรกลางอนุญาต
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ จ.ขณะ จ.ยังมีชีวิต จ. ซื้อที่ดินมาแล้วขายไปโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร การที่เจ้าพนักงานประเมินให้เสียภาษีสำหรับเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากร การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งขยายระยะเวลาและอนุญาตให้ฟ้องไม่ชอบ ที่ดินที่ จ. ซื้อมาแล้วขายไปเป็นการกระทำที่มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 1048/1/79210 ลงวันที่30 มกราคม 2530 ของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยเลขที่284/2530/1 ลงวันที่ 29 กันยายน 2530 ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กับให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 74217-74238 รวม22 แปลง 22 โฉนด แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครตามฟ้องเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อปี 2511 นายจรูญ วัฒนากร ได้ซื้อที่ดินมา 1 แปลงในราคา 2,406,000 บาท และได้ขายไปเมื่อปี 2523 ในราคา13,233,000 บาท โดยได้ขอยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไว้ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2523 นายจรูญ วัฒนากรได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 หลังจากนายจรูญวัฒนากร ถึงแก่กรรมแล้ว ศาลแพ่งได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นางสาวจำนงค์วัฒนากร และแม่ชีล้วน วัฒนากร เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายจรูญ ต่อมาแม่ชีล้วนเกิดล้มป่วย ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งเพิกถอนแม่ชีล้วนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก คงให้นางสาวจำนงค์เป็นผู้จัดการมรดกของนายจรูญแต่เพียงผู้เดียว ต่อมานางสาวจำนงค์ได้ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายจรูญ ศาลแพ่งจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายสนิท วัฒนากร เข้าเป็นผู้จัดการมรดกของนายจรูญแทนเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2530 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2523 ถึงกองมรดกของนายจรูญ โดยอ้างว่าขณะที่นายจรูญยังมีชีวิตอยู่นั้นมีเงินได้จากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4936 แขวงคลองเตย เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร รวมเป็นเงินภาษีและเงินเพิ่มจำนวนทั้งสิ้น8,013,848 บาท ผู้จัดการมรดกของนายจรูญได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่มีเหตุอันควรผ่อนผันจึงลดเงินเพิ่มให้เหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย รวมภาษีและเงินเพิ่มที่นายจรูญจะต้องชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 7,346,027.84 บาท ในระหว่างที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยได้ยื่นฟ้องผู้จัดการมรดกของนายจรูญที่ศาลภาษีอากรกลาง ตามคดีหมายเลขดำที่46/2530 หมายเลขแดงที่ 250/2530 ระหว่างกรมสรรพากร โจทก์แม่ชีล้วน วัฒนากร กับพวก จำเลย โดยขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำทรัพย์สินจากกองมรดกของนายจรูญออกขายเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีที่นายจรูญถูกเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บ ต่อมาศาลภาษีอากรกลางได้มีคำวินิจฉัยให้ยกฟ้องกรมสรรพากร โจทก์ โดยเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมสรรพากรโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลภาษีอากรกลางโดยเห็นว่า กรมสรรพากร โจทก์ ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบหรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย หลังจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงได้นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทราบคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ซึ่งในวันที่โจทก์ฟ้องกรมสรรพากรเป็นจำเลยในคดีนี้นั้น เป็นระยะเวลาเกิน 30 วัน นับแต่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยศาลภาษีอากรกลางได้ขยายระยะเวลาให้โจทก์ฟ้องคดี
พิเคราะห์แล้ว ข้อต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยประการแรกมีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในข้ออุทธรณ์อ้างว่าศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจขยายระยะเวลา เพราะเป็นอายุความในการฟ้องคดี และมิใช่กำหนดระยะเวลาในทางพิจารณาความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 หรือระยะเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กำหนดเวลาให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เป็นการกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดย่อมจะไม่มีอำนาจในการฟ้องคดี มิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใด ๆ และถึงแม้ไม่ได้เป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 แต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากรเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจขยายหรือย่นระยะเวลาให้โจทก์ได้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ประกอบด้วยมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปมีว่า กรณีของโจทก์เป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะขยายระยะเวลาให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำร้องของโจทก์ว่า คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้จากกองมรดกของนายจรูญ วัฒนากร ผู้จัดการมรดกของนายจรูญยื่นอุทธรณ์การประเมิน ต่อมาก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยได้ฟ้องโจทก์ให้ชำระภาษีอากรรายนี้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษายกฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีอำนาจฟ้อง โดยไม่ได้วินิจฉัยว่าการประเมินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และพิพากษายืน ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบโดยวินิจฉัยว่าการประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า การประเมินชอบด้วยกฎหมายซึ่งโจทก์จะต้องอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) ก็ตาม แต่เมื่อได้ความจากคำร้องของโจทก์ว่าขณะที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว คดีที่จำเลยฟ้องโจทก์นั้น ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จึงไม่อาจยื่นฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 30(2) ดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 อีกทั้งโจทก์ก็ยังไม่มีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาล เพราะในขณะนั้นคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางที่วินิจฉัยว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ยังมีผลผูกพันคู่ความอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 พฤติการณ์แห่งคดีดังที่ได้วินิจฉัยมานับว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่โจทก์ไม่อาจขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ต่อศาลก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยที่ศาลพึงขยายระยะเวลาให้โจทก์ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้ขยายระยะเวลาให้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยตามคำร้องชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ประการสุดท้ายมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมีประเด็นข้อโต้เถียงกันแต่เพียงว่าที่นายจรูญซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4936 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร แล้วขายไปนั้น เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือกำไรหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ขณะมีชีวิตอยู่นายจรูญเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี 5 สมัยติดต่อกัน และไม่มีอาชีพในการค้าขายที่ดินนายจรูญซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4936 ดังกล่าวจากนางบุญชู คงเจริญเมื่อปี พ.ศ. 2511 ในราคา 2,406,000 บาท และทำคอกม้าด้วยแต่เมื่อซื้อมาแล้ว นายจรูญไม่ได้ทำคอกม้าหรือทำประโยชน์อะไรคงปล่อยให้เป็นไปตามสภาพเดิม จนกระทั่งต่อมาในปี พ.ศ. 2523นายจรูญได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บริษัทตึกคู่ฟ้า จำกัดในราคา 13,233,000 บาท เหตุที่ขายที่ดินก็เพื่อนำเงินมาเป็นทุนในการหาเสียงเพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไปจำเลยนำสืบว่า จากการตรวจสอบหลักฐานพบว่า นายจรูญซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาเพียง 2,000,000 บาทเศษ แล้วขายไปได้ถึง13,000,000 บาทเศษและก่อนหน้านั้น นายจรูญก็มีการซื้อขายที่ดินแปลงอื่นมาก่อน 2-3 แปลงด้วยกันประกอบกับนายจรูญได้ร่วมกับภริยาก่อตั้งบริษัท จ.ฉ. วัฒนา จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการซื้อขายที่ดินด้วย เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเห็นว่า เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าการที่นายจรูญซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 แล้วทิ้งไว้นานจนถึงปี พ.ศ. 2523 จึงได้ขายที่ดินไป รวมระยะเวลาถือครองนานถึง 12 ปี ส่อแสดงให้เห็นว่านายจรูญได้ที่ดินมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เพราะหากนายจรูญมีเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแล้ว นายจรูญก็ควรที่จะรีบขายไปภายในเวลารวดเร็ว โดยน่าจะมีการพัฒนาปรับปรุงสภาพที่ดินให้ดีเพื่อจะให้มีราคาสูงขึ้นก่อนขายด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏว่านายจรูญได้กระทำการอันเป็นปกติวิสัยของผู้ที่มีเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไรพึงกระทำดังกล่าวไม่โดยเฉพาะคำเบิกความของนางสาวจำนงค์ วัฒนากร นายสนิท วัฒนากร และนายคำโพธาราม ที่เบิกความตรงกันโดยฝ่ายจำเลยมิได้สืบโต้เถียงเป็นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่นายจรูญซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อหักหนี้ที่นายประสานหรือไพศาลสามีของนางบุญชูค้างชำระอยู่ส่วนหนึ่ง ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นเจตนาของนายจรูญได้ชัดแจ้งยิ่งขึ้นว่า ซื้อที่ดินแปลงนี้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแต่อย่างใด หากแต่จำเป็นต้องซื้อเพื่อมิให้หนี้ของตนต้องสูญเสียไป ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ก่อนหน้าที่จะขายที่ดินแปลงนี้ นายจรูญเคยซื้อมาขายไปซึ่งที่ดินจำนวนหลายแปลง ทั้งที่ซื้อขายในนามของตนเองและในนามของบริษัท จ.ฉ. วัฒนา จำกัดซึ่งนายจรูญเป็นกรรมการผู้จัดการก็ดี นายจรูญขายที่ดินแปลงนี้ไปได้กำไรเพิ่มขึ้นถึง 5.5 เท่าตัว ซึ่งได้กำไรมากกว่านำเงินไปฝากธนาคารมากก็ดี นายจรูญจำเป็นต้องมีรายได้จากการค้าที่ดินมาใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งก็ดี รวมทั้งการที่นายจรูญมีที่ดินจำนวนมากถึง 104 แปลง ซึ่งผิดปกติไปจากบุคคลธรรมดาที่ควรจะมีไว้เพื่ออยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ส่วนตัวก็ดี พฤติการณ์ตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยเหล่านี้ แม้ว่าจะส่อแสดงว่าขณะขายที่ดินแปลงนี้นายจรูญมีเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไรก็ตามเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9) นั้นกฎหมายระบุว่าต้องเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแสดงว่าต้องพิจารณาเจตนาของผู้ได้มาในขณะได้มาว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้จากการวินิจฉัยไว้แล้วว่า ขณะซื้อที่ดินแปลงนี้นายจรูญยังมิได้มีเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแม้จะมีที่ดินแปลงอื่นที่นายจรูญได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรอันจะต้องเสียภาษี แต่ที่ดินแปลงพิพาทนายจรูญได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เมื่อขายที่ดินแปลงดังกล่าวไปย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้จากการขายที่ดินแปลงนี้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9)การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงไม่ชอบ…”
พิพากษายืน.