แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิการเช่าอาคารตามสัญญาเช่าที่ทำกับจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าช่วงก็ตาม ในการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึด สิทธิ การเช่าอาคารดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตาม คำพิพากษา นั้นหาได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิการเช่าของผู้ร้องแต่ ประการ ใด ไม่จึงยังไม่ได้มีการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์บังคับคดีตามคำพิพากษาโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสิทธิการเช่าอาคารเลขที่ 1717/23 ของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2528 ผู้ร้องได้ทำสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี ในราคา120,000 บาท โดยชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีสิทธิการเช่า ขอให้ปล่อยสิทธิการเช่าในทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ลายมือชื่อผู้ให้เช่าในสัญญาเช่ามิใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 และตามสัญญาเช่าเป็นการเช่าชั้นเดียว กว้าง 4เมตร ลึก 2 เมตร เท่ากับหนึ่งในสี่ของอาคารสัญญาเช่าเป็นโมฆะเพราะมิได้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ได้นำยึดสิทธิการเช่าอาคารเลขที่ 1717/23 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษากรณีจะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 จะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 55 โดยอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึดไว้ดังกล่าว แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิการเช่าตามสัญญาเช่าที่ทำกับจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าช่วงก็ตามแต่ในชั้นนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้นำยึดสิทธิการเช่าของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หาได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิการเช่าของผู้ร้องแต่ประการใดไม่ จึงยังไม่ได้มีการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์
พิพากษายืน.