คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจำเลยว่า ลักทรัพย์ รับของโจร และฉ้อโกง แล้วพนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การ จ. ผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารผู้เสียหายกรณีที่จำเลยใช้สมุดคู่ฝากถอน เงินสดจากธนาคารผู้เสียหายไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 ไว้ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับว่า ในวันดังกล่าวจำเลยได้ใช้ สมุดคู่ฝากถอนเงินสดจำนวนดังกล่าวไปจากผู้เสียหายจริง ดังนี้ เห็นได้ว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนในข้อหาความผิด ฐานฉ้อโกงด้วยแล้ว แม้ว่าในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานสอบสวนจะไม่ได้สอบปากคำว่าจำเลยได้ไปฉ้อโกง หรือหลอกลวงผู้ใดไว้ก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะ ในการสอบสวนไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายว่าพนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนมากน้อยเพียงใด เมื่อมีการสอบสวนใน ความผิดฐานฉ้อโกงโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการจึงมี อำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกง โดยวินิจฉัยว่าฟังไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานฉ้อโกง โดยชอบ โดยศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิด ฐานฉ้อโกงหรือไม่ ดังนี้เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลย เป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความ ศาลฎีกา ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 334, 335 และ 341 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 575,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334, มาตรา 335(1) วรรคแรก, 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 30 กระทง เป็นจำคุก 30 ปี ฐานฉ้อโกงจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 31 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่คงลงโทษจำคุก 23 ปี 3 เดือน แต่ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยรวมทั้งสิ้น 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 575,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกับพวกตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปลักทรัพย์ 25 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคแรก และมีความผิดฐานร่วมกับพวกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปลักทรัพย์ในเวลากลางคืน 5 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 30 กระทง เป็นจำคุก 30 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 575,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงเพราะได้มีการสอบสวนในข้อหาความผิดดังกล่าวแล้วหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวโจทก์นำสืบว่า เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโทอาภากร โกมลสุทธิ พนักงานสอบสวนร้อยตำรวจโทอาภากรได้แจ้งข้อหาจำเลยว่าลักทรัพย์รับของโจรและฉ้อโกงแล้วได้สอบคำให้การของฝ่ายผู้เสียหายไว้ ต่อมาเมื่อจับกุมจำเลยได้ก็ได้สอบคำให้การจำเลย เห็นว่าตามบันทึกคำให้การของนางจันทร์เพ็ญ พุฒิวรชัย ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.13ร้อยตำรวจโทอาภากรได้สอบคำให้การนางจันทร์เพ็ญ กรณีที่จำเลยใช้สมุดคู่ฝากถอนเงินสดจำนวน 10,000 บาท ไปจากผู้เสียหายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกง และตามบันทึกคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.15จำเลยก็ให้การรับว่าเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 จำเลยได้ใช้สมุดคู่ฝากถอนเงินสดจำนวน 10,000 บาท ไปจากผู้เสียหายจริง แสดงให้เห็นว่าร้อยตำรวจโทอาภากรได้สอบสวนในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงด้วยแล้วแม้ว่าร้อยตำรวจโทอาภากรจะเบิกความตอบคำถามค้านว่าข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้มีการสอบปากคำว่าจำเลยได้ไปฉ้อโกงหรือหลอกลวงผู้ใดก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญเพราะการสอบสวนพนักงานสอบสวนจะสอบสวนมากน้อยเพียงใดก็หาต้องด้วยข้อห้ามตามกฎหมายไม่ จึงถือได้ว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวนในความผิดฐานฉ้อโกงโดยชอบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง
ปัญหาประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงโดยวินิจฉัยว่า ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานฉ้อโกงโดยชอบ ต้องห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 โดยศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฉ้อโกง ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อหานี้ให้ครบถ้วนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share