แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ประกอบการค้าใน สวนลุมพินีต่อไปอีก 30 ปี และจำเลยที่ 1 ตกลงจะสร้างอาคารใหม่ขึ้นอีก 1 แห่ง แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงให้ผู้ร้องเป็นผู้ลงทุน ก่อสร้างอาคารให้โจทก์เช่นนี้ต้องถือว่าผู้ร้องสร้างอาคารพิพาท โดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะยินยอมให้ผู้ร้อง ประกอบการค้าในอาคารที่ก่อสร้างได้ก็ตาม แต่ผู้ร้อง ก็เข้าไปอยู่ในอาคารและที่ดินพิพาทก็โดยอาศัยสิทธิของ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะบริวารไม่ใช่ ผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 จัตวา(3)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารหมายเลข 2 ด้านถนนราชดำริและถนนสารสิน ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินสวนลุมพินีกรุงเทพมหานคร กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และบริวารกับขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารหมายเลข 2 และที่ดินรอบอาคารในสวนลุมพินีกรุงเทพมหานคร ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหาย กับให้จำเลยที่ 3 ใช้เงินตามสัญญาค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เฉพาะค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดมีผลให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องออกไปจากอาคารและที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และบริวารแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว จำเลยที่ 1ประกอบกิจการค้าอาหารอยู่ในบริเวณสวนลุมพินี ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเรื่องฟ้องร้องและตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ประกอบการค้าในสวนลุมพินีต่อไปได้อีก 30 ปี จนถึงสิ้นปี 2549 และจำเลยที่ 1 ตกลงจะสร้างอาคารใหม่ขึ้นอีก 1 แห่ง ขณะนั้นจำเลยที่ 1ไม่มีเงินเพียงพอ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงปรึกษากับนายจิรวัฒน์ จตุรงคเวทย์ ผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้อง และให้นายจิรวัฒน์กับจำเลยที่ 2 หาทุนเพื่อก่อสร้างอาคารให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยอมให้นายจิรวัฒน์ทำการค้าในอาคารที่ก่อสร้างและเป็นผู้เช่ากับโจทก์ เมื่อก่อสร้างอาคารเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ขอให้นายจิรวัฒน์กับพวกเป็นคู่สัญญาเช่ากับโจทก์แทน จำเลยที่ 1 ไม่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เช่าได้เนื่องจากข้อตกลงที่จะสร้างอาคารนั้นเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ แต่โจทก์ยินยอมให้นายจิรวัฒน์กับพวกประกอบการค้าในอาคารที่ก่อสร้างได้ นายจิรวัฒน์กับพวกจึงจดทะเบียนเป็นบริษัทใช้ชื่อว่า “บริษัทลุมพินีโซดาเฟาว์เทน จำกัด” ประกอบการขายอาหารเครื่องดื่มในอาคารที่ก่อสร้างคืออาคารและที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2521 จำเลยที่ 1 ไม่เคยประกอบการค้าหรืออยู่ในอาคารและที่ดินพิพาทเลย ผู้ร้องจึงมิใช่บริวารของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอาคารพิพาทให้โจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะได้เช่าอยู่ถึงปี 2549 ผู้ร้องจึงมีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในอาคารและที่ดินพิพาทได้ขอให้ไต่สวนคำร้อง ของ ผู้ร้องและมีคำสั่งว่าผู้ร้องมีสิทธิอยู่ในอาคารและที่ดินพิพาทได้จนถึงสิ้นปี 2549
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้ออ้างตามคำร้องมิได้แสดงถึงอำนาจพิเศษแต่อย่างใด การประกอบการค้าของผู้ร้องเป็นการอาศัยสิทธิของจำเลย ต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวาร จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องฎีกาข้อเดียวว่าตามคำร้องผู้ร้องได้แสดงอำนาจพิเศษต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 จัตวา(3) เห็นว่า ข้ออ้างตามคำร้อง ของ ผู้ร้องที่ว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ประกอบการค้าในสวนลุมพินีต่อไปอีก 30 ปี และจำเลยที่ 1 ตกลงจะสร้างอาคารใหม่ขึ้นอีก 1 แห่ง แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงให้ผู้ร้องเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอาคารให้โจทก์ เช่นนี้ต้องถือว่าผู้ร้องสร้างอาคารพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะยินยอมให้ผู้ร้องประกอบการค้าในอาคารที่ก่อสร้างได้ก็ตามแต่ผู้ร้องก็เข้าไปอยู่ในอาคารและที่ดินพิพาทก็โดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะบริวารไม่ใช่ผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา(3)
พิพากษายืน