คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4025/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า การที่จำเลยไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและแผงค้าของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของโจทก์ได้ ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ดังนั้นเมื่อครบกำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและแผงค้าที่เช่าของโจทก์ในวันที่ 26 เมษายน 2532 และวันที่ 9 ตุลาคม 2533 แต่จำเลยเพิกเฉยอันถือได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์นับแต่วันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยตลอดมา อีกทั้งโจทก์ก็ทราบว่าจำเลยเป็นผู้กระทำละเมิด เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2540 จึงต้องถือว่าค่าเสียหายเกี่ยวกับที่ดินและแผงค้าที่เกิดก่อนวันที่ 24 เมษายน 2539 เกิน 1 ปี แล้วเป็นอันขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2407 เลขที่ดิน 171 พร้อมตลาดสุขาภิบาลมีนบุรีและตึกแถวซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าว เดิมจำเลยเป็นผู้เช่าที่ดินและแผงค้าในบริเวณตลาดสุขาภิบาลมีนบุรีของโจทก์ โดยเมื่อปี 2525และ 2527 จำเลยได้เช่าที่ดินโจทก์บริเวณหลังตลาดสด เนื้อที่ 60 ตารางเมตร และ35 ตารางเมตร ตามลำดับ เพื่อวางสิ่งของและสินค้าของจำเลยรวมเนื้อที่ 95 ตารางเมตรอัตราค่าเช่า 550 บาท ต่อเดือน ครั้นปี 2530 จำเลยได้เช่าแผงค้าในบริเวณตลาดดังกล่าวจากโจทก์ จำนวน 10 แผง เพื่อวางสินค้าของจำเลยอัตราค่าเช่าเดือนละ 300 บาทต่อมาปี 2532 โจทก์ได้เปลี่ยนแปลงค่าเช่าแผงค้าเป็นรายวัน วันละ 3 บาท ต่อแผงจำเลยไม่ยอมชำระค่าแผงค้ารายวันและไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์เกี่ยวกับการวางสินค้า โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกการเช่าแผงค้าแก่จำเลย เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามหนังสือในวันที่ 26 เมษายน 2532 จำเลยเพิกเฉย และในปี 2533 โจทก์ประสงค์จะใช้พื้นที่หลังตลาดสดจึงบอกเลิกการเช่าที่ดินแก่จำเลย โดยจำเลยจะต้องออกไปจากบริเวณที่ดินโจทก์เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามหนังสือบอกเลิกการเช่าในวันที่ 9ตุลาคม 2533 แต่จำเลยเพิกเฉยอีก เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของโจทก์ได้ ขอคิดค่าเสียหายในอัตราเดียวกับค่าเช่า สำหรับที่ดินค่าเสียหายเดือนละ 550 บาท นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2533ถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 43,175 บาท และเป็นเหตุให้โจทก์จะต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปีละ 1,051 บาท ถึงวันฟ้องรวม 6 ปี เป็นเงิน 6,300 บาท สำหรับแผงค้าจำเลยครอบครองใช้ประโยชน์ระหว่างวันที่ 26 เมษายน 2532 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม2533 รวม 6,065 แผง และระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม 2536 ถึงวันฟ้องวันละ 72 แผงคิดค่าเสียหายวันละ 3 บาทต่อแผง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 294,027 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 343,502 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งของออกไปจากบริเวณที่ดินเนื้อที่ 95 ตารางเมตร ด้านหลังตลาดสุขาภิบาลมีนบุรีและแผงค้าทั้งหมดในบริเวณตลาดสุขาภิบาลมีนบุรีของโจทก์ และส่งมอบที่ดินรวมทั้งแผงค้าดังกล่าวให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้ชำระค่าเสียหายสำหรับที่ดินแก่โจทก์เป็นเงิน43,175 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จและค่าเสียหายอีกเดือนละ 550 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปและส่งมอบที่ดินเนื้อที่ 95 ตารางเมตร ให้โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย ให้ชำระค่าเสียหายที่โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 6,300บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของปี 2540 เป็นต้นไปเป็นเงินปีละ 1,050 บาท จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปและส่งมอบที่ดินรวม 95 ตารางเมตรให้โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย ให้ชำระค่าเสียหายสำหรับแผงค้าเป็นเงิน 294,027 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายอีกวันละ 216 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปและส่งมอบแผงค้าทั้งหมดคืนโจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย

จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิด เมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันจำเลยทำละเมิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 43,175 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายอีกเดือนละ 550 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องถึงวันที่ 19 มกราคม 2542 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำนวน 6,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของปี2540 เป็นต้นไปปีละ 1,050 บาท จนถึงวันที่ 19 มกราคม 2542 ชำระเงินจำนวน294,027 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายอีกวันละ 216 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 19 มกราคม 2542

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายสำหรับที่ดิน 6,600บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายอีกเดือนละ 550 บาท นับแต่วันฟ้องถึงวันที่ 19 มกราคม 2542 ให้ชำระค่าเสียหายสำหรับแผงค้าจำนวน 78,840 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และค่าเสียหายอีกวันละ 216 บาทนับแต่วันฟ้องถึงวันที่ 19 มกราคม 2542 แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผงค้าที่เช่าขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องว่า การที่จำเลยไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและแผงค้าของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของโจทก์ได้ ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนี้จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิ้นปีนับแต่วันทำละเมิด” ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ครบกำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและแผงค้าที่เช่าของโจทก์ในวันที่ 26เมษายน 2532 และวันที่ 9 ตุลาคม 2533 ตามลำดับ แต่จำเลยก็เพิกเฉยไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไป อันถือได้ว่า จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์นับแต่วันดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยตลอดมา อีกทั้งโจทก์ก็ทราบดีมาโดยตลอดว่า ผู้ที่กระทำละเมิดในครั้งนี้ก็คือจำเลยซึ่งเป็นผู้พึงใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2540 เช่นนี้ จึงต้องถือว่าค่าเสียหายเกี่ยวกับที่ดินและแผงค้าตามฟ้องที่เกิดก่อนวันที่ 24 เมษายน 2539 เกิน1 ปี แล้วเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share