แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาจำนองในวงเงิน 390,000 บาท เพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของ ท. ที่มีต่อธนาคารจำเลยผู้รับจำนอง โดยสัญญาจำนองระบุว่า ผู้จำนองได้จำนองเพื่อประกันเงินซึ่ง ท.ได้เบิกไปจากผู้รับจำนองหรือในเงินจำนวนใดจำนวนหนึ่งซึ่งลูกหนี้เป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่ในเวลาทำสัญญาจำนองหรือจะเป็นหนี้ต่อไปในภายหน้ากับค่าอุปกรณ์ คือ ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนอง ผู้จำนองยอมรับผิดชอบด้วยทั้งสิ้นและว่า ผู้จำนองยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับจำนองในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในจำนวนเงินทั้งสิ้นซึ่งลูกหนี้เป็นหนี้ผู้รับจำนอง ถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยที่กล่าวนี้ผู้จำนองยอมให้ผู้รับจำนองคำนวณดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบต้นในบัญชีของลูกหนี้ด้วย ดังนั้น ย่อมมีความหมายว่า นอกจากโจทก์ผู้จำนองจะต้องรับผิดตามสัญญาจำนองเป็นเงิน 390,000 บาท แล้ว ยังต้องรับผิดสำหรับดอกเบี้ยเมื่อ ท. ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยด้วย จำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบภายหลังมีสิทธิอ้างส่งสัญญาค้ำประกันเพื่อการนำสืบตามประเด็นข้อต่อสู้ได้ แม้จะมิได้ถามค้านพยานโจทก์ในข้อนี้ไว้ก่อนก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10555 โจทก์ได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้ของนายทองพูล ปลั่งศิริ ซึ่งมีอยู่ขณะจดทะเบียนจำนองและในภายภาคหน้าในวงเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 390,000 บาท ต่อจำเลยต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองต่อจำเลยในวงเงิน390,000 บาท ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมรับการไถ่ถอนจำนอง แต่กำหนดให้โจทก์ไถ่ถอนในวงเงิน 840,000 บาท ซึ่งเป็นวงเงินที่เกินกว่าโจทก์ได้จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้แก่จำเลย ขอให้ศาลบังคับจำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10555 ให้แก่โจทก์ในจำนวนเงิน 390,000 บาท และให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวและรับเงิน 390,000 บาท จากโจทก์ หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามฟ้องเพื่อเป็นประกันหนี้ของโจทก์และหนี้ของนายทองพูล ปลั่งศิริ ซึ่งเป็นหนี้จำเลยผู้รับจำนองในขณะทำสัญญาจำนองหรือในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้า เป็นเงินจำนวน 390,000 บาท โดยกำหนดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้า รวมตลอดทั้งหนี้ค่าอุปกรณ์ และยอมตกลงด้วยว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ยินยอมให้จำเลยยึดทรัพย์สินอื่นของโจทก์นำออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้จำเลยได้จนครบถ้วน ต่อมาโจทก์ได้ตกลงทำบันทึกแก้ไขอัตราดอกเบี้ยจำนองจากอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นายทองพูล ปลั่งศิริ เป็นหนี้จำเลยสาขาสมุทรสาครตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและตามภาระการออกหนังสือค้ำประกันรวมเป็นเงิน 5,102,640.97 บาท นอกจากโจทก์จะได้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้และทำสัญญาค้ำประกันหนี้การออกหนังสือค้ำประกันไว้แก่จำเลยอีกด้วยโดยยอมร่วมรับผิดกับนายทองพูลอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์ให้จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินตามฟ้องเป็นเงินจำนวน 390,000 บาท เป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยจึงไม่ต้องจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีของนายทองพูล ปลั่งศิริ ไว้แก่จำเลย สาขาสมุทรสาครในวงเงิน900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบันทึกเพิ่มเติมท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย ล.3 ล.4และ ล.5 และจำเลยได้ทำหนังสือค้ำประกันนายทองพูลให้ไว้ต่อบริษัทเมโทรแมชีนเนอรี่ จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.6 โจทก์ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 10555 ตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จำนองเป็นประกันหนี้ของนายทองพูลในวงเงิน 390,000 บาทตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.7 และ ล.8เมื่อคิดถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 นายทองพูลมียอดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวน 2,306,663.62 บาท ตามการด์บัญชีเอกสารหมายล.13 และมีหนี้ตามภาระการออกหนังสือค้ำประกันเป็นจำนวน 2,795,977.35บาท ตามเอกสารหมาย ล.14 หนี้ดังกล่าวนายทองพูลยังไม่ได้ชำระให้แก่จำเลย มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าโจทก์จะขอให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการจำนองที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ในจำนวนเงิน 390,000 บาท ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง ข้อ 1 ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า ผู้จำนองได้จำนองเพื่อประกันเงินซึ่งนายทองพูลลูกหนี้ได้เบิกไปจากผู้รับจำนองหรือในเงินจำนวนใดจำนวนหนึ่งซึ่งผู้จำนองหรือลูกหนี้เป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่ในเวลาทำสัญญาจำนองหรือจะเป็นหนี้ต่อไปในภายหน้ากับค่าอุปกรณ์ คือ ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนอง ผู้จำนองยอมรับผิดชอบด้วยทั้งสิ้นและในข้อ 2 ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า ผู้จำนองยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับจำนองในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในจำนวนเงินทั้งสิ้น ซึ่งลูกหนี้ที่กล่าวแล้วข้างต้นเป็นหนี้ผู้รับจำนอง เงินดอกเบี้ยนี้จะได้คิดในยอดหนี้ประจำวันซึ่งปรากฏในบัญชีของผู้รับจำนองถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยที่กล่าวนี้ ผู้จำนองยอมให้ผู้รับจำนองคำนวณดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบต้นในบัญชีของผู้จำนองและหรือลูกหนี้ด้วยดังนั้น สัญญาจำนองย่อมมีความหมายว่า นอกจากโจทก์ผู้จำนองจะต้องรับผิดตามสัญญาจำนองเป็นเงิน 390,000 บาทแล้ว ยังต้องรับผิดสำหรับดอกเบี้ย เมื่อนายทองพูลซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยด้วย โจทก์จะขอไถ่ถอนจำนองในจำนวนเงิน 390,000 บาทโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เสนอขอชำระดอกเบี้ยด้วย จำเลยย่อมปฏิเสธการรับชำระหนี้และไม่ยอมให้ไถ่ถอนจำนองได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่าจำเลยมีหน้าที่นำสืบภายหลังได้อ้างส่งสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.11และ ล.12 โดยมิได้ถามค้านพยานโจทก์ไว้ จำเลยไม่มีสิทธิอ้างส่งเอกสารหมาย ล.11 และ ล.12 นั้น เห็นว่า จำเลยอ้างส่งเอกสารหมายล.11 และ ล.12 เพื่อการนำสืบตามประเด็นข้อต่อสู้ จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบโดยอ้างส่งเอกสารดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน