คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4022/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า นายจ้างมีกิจการขนาดใหญ่ หากจะต้องยุบหน่วยงานที่ผู้ร้องซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ ก็สามารถโอนผู้ร้องไปหน่วยงานอื่นได้จึงไม่มีเหตุเพียงพอจะเลิกจ้างผู้ร้องได้นั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าไม่มีหน่วยงานอื่นที่เหมาะสมแก่พนักงานหน่วยนี้รวมทั้งผู้ร้อง ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 54
การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์เป็นการคุ้มครองนายจ้างและลูกจ้างมิให้เบียดเบียนซึ่งกันและกันแม้ตามมาตรา 123ซึ่งมุ่งหมายมิให้นยจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้างจะได้กำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ 5ประการด้วยกันแต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อนายจ้างมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจากเหตุแห่งการเลิกจ้างนั้นแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างไม่ได้
เมื่อการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยให้นายจ้างเลิกกิจการจำหน่ายและให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงในบริเวณท่าอากาศยาน โดยมอบหมายให้บริษัทอื่นดำเนินการแทน นายจ้างจึงจำเป็นต้องยุบหน่วยงานนั้นและนายจ้างไม่มีตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมแก่ลูกจ้างที่ประจำอยู่ในหน่วยงานดังกล่าว การที่นายจ้างขอเลิกจ้างลูกจ้างจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้จัดตั้งหน่วยงานบริการน้ำมันอากาศยานที่ดอนเมืองโดยมีลูกจ้างของผู้ร้องที่หน่วยงานนี้กว่า 40 คน ต่อมาการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงท่าอากาศยานกรุงเทพโดยให้ผู้ร้องเลิกการจ่ายน้ำมันและการให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในบริเวณท่าอากาศยานทั้งหมด และมอบหมายให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นผู้จ่ายและบริการน้ำมันเชื้อเพลิงผู้ร้องจึงต้องเลิกล้มหน่วยงานจ่ายและให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงในท่าอากาศยานกรุงเทพ และผู้ร้องไม่มีหน่วยงานอื่นที่จะมอบหมายให้ลูกจ้างทั้งหมดทำงานได้จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างของหน่วยงานนี้ทั้งหมด ผู้ร้องได้แจ้งเรื่องที่จะยุบหน่วยงานดังกล่าวให้ลูกจ้างทราบ ถ้าลูกจ้างคนใดประสงค์จะทำงานต่อไปก็ขอให้สมัครเข้าทำงานกับบริษัทใหม่ซึ่งบริษัทนี้ก็ได้พิจารณารับลูกจ้างในหน่วยงานของผู้ร้องที่สมัครเข้าทำงานในหน้าที่เดิม ส่วนนายบัญชา นายมงคล นายถวัลย์ และนายสุวรรณ กรรมการลูกจ้างของสหภาพแรงงานเอสโซ่แห่งประเทศไทย ไม่ยอมสมัครงานตามที่ผู้ร้องแนะนำ ผู้ร้องไม่มีตำแหน่งงานอื่นใดที่เหมาะสมกับลูกจ้างทั้งสี่ได้ จึงขออนุญาตเลิกจ้างลูกจ้างทั้งสี่
ลูกจ้างของผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องกับสหภาพแรงงานเอสโซ่แห่งประเทศไทยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกัน ที่ผู้ร้องยุบหน่วยงานดอนเมือง (คลังน้ำมันดอนเมือง) เป็นการโอนกิจการให้กับบริษัทใหม่โดยผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย ผู้ร้องจึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยตกลงกับผู้รับโอนให้รับผู้คัดค้านทั้งสี่ไปปฏิบัติงานโดยนับอายุงานต่อเนื่องและให้ผู้รับโอนยึดถือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหลักปฏิบัติต่อไป แต่ผู้ร้องกลับไม่ปฏิบัติโดยให้ผู้คัดค้านทั้งสี่ไปสมัครงานกับบริษัทใหม่และให้นับอายุงานใหม่อันแตกต่างไปจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านทั้งสี่ได้รับความเสียหาย เหตุแห่งการขอเลิกจ้างจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างผู้คัดค้านทั้งสี่มิได้กระทำความผิดตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และไม่เป็นความจริงที่ผู้ร้องไม่มีตำแหน่งงานอื่นที่เหมาะสมกับผู้คัดค้านทั้งสี่ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้ร้องจำต้องยุบหน่วยงานสนามบินดอนเมืองและไม่มีตำแหน่งงานที่เหมาะสมแก่พนักงานรวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสี่การยุบหน่วยงานของผู้ร้องไม่ขัดกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มีคำสั่งให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสี่ได้
ผู้พิพากษาสมทบนายหนึ่งทำความเห็นแย้ง
ผู้คัดค้านทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านทั้งสี่อุทธรณ์ว่าผู้คัดค้านมีกิจการขนาดใหญ่ผู้ร้องทราบมาล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องยุบเลิกหน่วยงานที่สนามบินดอนเมืองและผู้ร้องมีกิจการอื่นที่ผู้คัดค้านมีความสามารถที่จะทำได้ หากผู้ร้องมิได้จงใจที่จะใช้วิธีการเลิกจ้างเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ร้องก็ยังสามารถโอนย้ายผู้คัดค้านไปทำงานที่หน่วยงานอื่นได้ แม้ผู้ร้องจะไม่เคยผ่านงาน แต่ถ้าเป็นงานที่ทำได้ก็ย่อมโอนย้ายได้โดยชอบ ที่ผู้ร้องอ้างความไม่เหมาะสมจึงไม่เพียงพอที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสี่ได้ พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องจำเป้นต้องยุบหน่วยงานที่สนามบินดอนเมืองของผู้ร้องทั้งหมดและไม่มีตำแหน่งงานอื่นที่เหมาะสมแก่พนักงานที่ประจำอยู่ที่หน่วยงานรวมทั้งตำแหน่งของผู้คัดค้านทั้งสี่ ทั้งการยุบหน่วยงานก็ไม่ขัดกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้น กรณีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การกระทำอันไม่เป็นธรรมที่ได้บัญญัติไว้ในหมวด 9 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นั้น เป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองนายจ้างและลูกจ้างมิให้เบียดเบียนหรือกลั่นแกล้งต่อกัน และบทบัญญัติมาตรา 123 มุ่งมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้าง แม้จะได้กำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้เพียง 5ประการแต่ก็มิได้หมายความว่า เมื่อนายจ้างมีเหตุจำเป็นนอกเหนือไปจากเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวแล้วนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่ได้โดยไม่คำนึงถึงฐานะและสภาพทางเศรษฐกิจ หรือความจำเป็นของนายจ้างประการอื่นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ กรณีนี้ได้ความว่า การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงท่าอากาศยานกรุงเทพโดยให้ผู้ร้องและบริษัทที่จำหน่ายน้ำมันและให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ประกอบการอยู่ในบริเวณท่าอากาศยานทั้งหมดเลิกกิจการ และมอบหมายให้บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามมติของคณะรัฐมนตรีเป็นผู้จ่ายและบริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่อากาศยานแต่เพียงบริษัทเดียว ผู้ร้องจึงมีความจำเป็นต้องยุบหน่วยงานจ่ายและให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ร้อง และผู้ร้องไม่มีตำแหน่งงานอื่นที่เหมาะสมแก่ความรู้ความสามารถแก่พนักงานของผู้ร้องหน่วยงานนี้ซึ่งรวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสี่ได้เช่นนี้ เป็นกรณีที่ผู้ร้องมีความจำเป็นจะต้องยุบหน่วยงานที่ผู้คัดค้านทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่อยู่โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงอันเป็นการกระทำโดยสุจริต และมิใช่เกิดจากการกลั่นแกล้งอันจะถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม การขอเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสี่จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123
พิพากษายืน.

Share