คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4015/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด เมื่อกรมธรรม์เพียงแต่กำหนดวงเงินความเสียหายที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดโดยมิได้ระบุให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด ประกอบกับหนี้หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และโจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล ประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-6597 พิจิตร โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้าง ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับประกันภัยรถยนต์ จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไปประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ซึ่งขณะเกิดเหตุยังอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2541 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับไปเฉี่ยวสายเคเบิลโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่พาดอยู่บนเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงขนาด 12 เมตร ของโจทก์ ทำให้เสาไฟฟ้าของโจทก์รวม 6 ต้น สายไฟฟ้าและอุปกรณ์บนเสาไฟฟ้าชำรุดเสียหายคิดเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 198,745 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1ปี 10 เดือน เป็นเงินดอกเบี้ย 27,327 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 226,027 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 226,072 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 198,745 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายกับจำเลยที่ 2 เกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำละเมิด จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยก็หลุดพ้นไปด้วย ทั้งความเสียหายของโจทก์สูงเกินส่วนเพราะโจทก์มิได้จัดซื้อเสาไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบเสาไฟฟ้าตามราคาท้องตลาดทั่วไป และความเสียหายดังกล่าวสามารถซ่อมแซมได้ เสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 198,745 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไป ส่วนจำเลยที่ 3 นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 27,327 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2541 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-6597 พิจิตร ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 บรรทุกคอนกรีตผสมเสร็จไปส่งให้แก่ลูกค้าที่ถนนแดงทองดี ในตลาดเทศบาลตำบลตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ในระหว่างเดินทางกลับจำเลยที่ 1 ได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้หัวของโม่ปูนไปเกี่ยวกับสายโทรศัพท์ทำให้โน้มเสาไฟฟ้ารายทางของโจทก์หักลงจำนวน 6 ต้น อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าขาดชำรุดเสียหายหลายรายการ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ให้พนักงานทำการซ่อมแซมและเปลี่ยนเสาไฟฟ้าใหม่ เสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 198,745 บาท โดยคิดราคา มาตรฐานของโจทก์ที่มีอยู่ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้และอยู่ในระหว่างอายุสัญญา ตามกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.8 และโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดอายุความแล้ว คงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ผู้อาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 รวมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินค่าเสียหายจำนวน 198,745 บาท นับแต่วันทำละเมิดมิใช่นับแต่วันฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุน ซึ่งมีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิด เมื่อกรมธรรม์เพียงแต่กำหนดวงเงินความเสียหายที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดโดยมิได้ระบุให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด ประกอบกับหนี้หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ กรณียังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน จำเลยทั้งสามไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share