แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไปที่ที่พักอาศัยของโจทก์ร่วม แล้วใช้อาวุธปืนนั้นขู่บังคับโจทก์ร่วมกับรื้อค้นเอาเงินจำนวน 3,000 บาท และนาฬิกาข้อมือราคา 150,000 บาท ไป จากนั้นจำเลยทั้งสองเอาเสื้อคลุมศีรษะโจทก์ร่วมบังคับให้ขึ้นรถยนต์นำโจทก์ร่วมไปกักขังไว้บนชั้นที่ 3 ของตึกแถวที่จำเลยที่ 1 เช่าจากผู้อื่น แล้วส่งจดหมายเรียกค่าไถ่ไปยังภริยาและบุตรของโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ที่ประเทศไต้หวัน จนภริยาของโจทก์ร่วมตกลงจ่ายค่าไถ่ให้จำเลยทั้งสอง ในระหว่างที่โจทก์ร่วมถูกกักขัง จำเลยทั้งสองได้มัดโจทก์ร่วมด้วยโซ่ที่มือและเท้าทั้งสองข้างและใส่กุญแจ และควบคุมตัวโจทก์ร่วมอยู่ตลอดเวลา โจทก์ร่วมถูกกักขังอยู่เป็นเวลา 133 วัน หมดอิสระในการเคลื่อนไหวร่างกายไปที่อื่น และไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้ เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมไม่ได้รับประทานยาแก้โรคเบาหวาน ทำให้อาการกำเริบ มีเลือดปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ อันเป็นการกระทำที่เลวร้ายยิ่งกว่าการปฏิบัติต่อนักโทษที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำเสียอีกจึงเป็นการกระทำโดยทรมานจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 2 มีนาคม 2541 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนสั้นขนาด .357 แม็กนั่ม หมายเลขทะเบียน สพ 3/4308 ของผู้มีชื่อ และกระสุนปืน ขนาด .357 จำนวน 2 นัด และขนาด .38 สเปเชี่ยล จำนวน 4 นัด อันเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้ยิงได้ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนพระรามที่ 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร และตามถนนประชาราษฎร์ สาย 1 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร อันเป็นเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีเหตุสมควรและไม่เป็นกรณีที่ต้องมีอาวุธปืนติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2541 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์นาฬิกาข้อมือยี่ห้อโรเล็กซ์ 1 เรือน ราคา 150,000 บาท ของนายฉี โจ้ง อี้ ผู้เสียหาย โดยใช้อาวุธปืนดังกล่าวข้างต้นขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะยิงทำร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ยึดถือเอาทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไปหรือให้พ้นจากการจับกุม และใช้ข้อศอกกระทุ้งท้องผู้เสียหาย อันเป็นการชิงทรัพย์ และในการชิงทรัพย์จำเลยทั้งสองใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปด้วย หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองร่วมกันจับเอาตัวผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 65 ปี โดยใช้อาวุธปืนดังกล่าวข้างต้นขู่เข็ญจะยิงทำร้ายจนผู้เสียหายจำยอมให้นำตัวไปหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ทั้งยังใช้โซ่ล่ามที่เท้าและใส่กุญแจมือตลอดเวลา อันเป็นการกระทำโดยทรมานหรือทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 309, 310, 313, 339, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ของกลางท้ายฟ้อง และให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเป็นเงิน 150,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปได้ 3 ปาก จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายฉี โจ้ง อี้ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 309, 310, 313, 339, 340 ตรี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง และวรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 310 (ที่ถูก 310 วรรคแรก), 313 วรรคสอง, 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและเอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปเพื่อเรียกค่าไถ่ อันเป็นการกระทำโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้ายซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวกันให้ลงโทษฐานเอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปเพื่อเรียกค่าไถ่อันเป็นการกระทำโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว และคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูกต้องระบุประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53) คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี (ที่ถูก 65 ปี 20 เดือน แต่จำคุกจำเลยที่ 1 ได้เพียง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ) จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 32 ปี 16 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนนาฬิกาข้อมือ ยี่ห้อโรเล็กซ์หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ริบของกลางตามบัญชีของกลางท้ายฟ้องยกเว้นของกลางรายการที่ 3 ลูกกุญแจรถยนต์ รายการที่ 4 บัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 รายการที่ 5 รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน 5ว-7952 กรุงเทพมหานคร รายการที่ 19 บัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 2 และรายการที่ 19 อาวุธปืน ขนาด .357 หมายเลขทะเบียน สพ.3/4308 ให้คืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ขอถอนฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต ให้จำหน่ายดคีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงว่า ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 การกระทำของจำเลยที่ 2 ในการกักขังโจทก์ร่วมเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นการกระทำโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้ายอันเป็นความผิดตามวรรคสอง ของมาตรา 313 หรือไม่ และมีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 สถานเบาและลดโทษให้กึ่งหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาโดยจำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนตามฟ้องไปที่เคหสถานอันเป็นที่พักอาศัยของโจทก์ร่วม แล้วใช้อาวุธปืนนั้นขู่บังคับโจทก์ร่วมกับรื้อค้นเอาเงินจำนวน 3,000 บาท และนาฬิกาข้อมือ ยี่ห้อโรเล็กซ์ราคา 150,000 บาท ไป จากนั้น จำเลยทั้งสองเอาเสื้อคลุมศีรษะโจทก์ร่วมบังคับให้ขึ้นรถยนต์ที่ติดเครื่องรออยู่หน้าที่พักอาศัยของโจทก์ร่วมแล้วขับรถนำโจทก์ร่วมไปกักขังไว้บนชั้นที่ 3 ของตึกแถวที่จำเลยที่ 1 เช่าจากผู้อื่น แล้วส่งจดหมายเรียกค่าไถ่ไปยังภริยาและบุตรของโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ที่ประเทศไต้หวันจนภริยาของโจทก์ร่วมตกลงจ่ายค่าไถ่ให้จำเลยทั้งสองจำนวน 275,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างที่โจทก์ร่วมถูกกักขัง จำเลยทั้งสองได้มัดโจทก์ร่วมด้วยโซ่ที่มือและเท้าทั้งสองข้างและใส่กุญแจและจำเลยทั้งสองควบคุมตัวโจทก์ร่วมอยู่ตลอดเวลา เมื่อโจทก์ร่วมจะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะจำเลยทั้งสองจะช่วยถอดกางเกงให้ อุจจาระและปัสสาวะของโจทก์ร่วมมีเลือดปนออกมาด้วยเนื่องจากโจทก์ร่วมไม่ได้รับประทานยารักษาโรคเบาหวาน โจทก์ร่วมถูกกักขังอยู่ในลักษณะดังกล่าวเป็นเวลา 133 วัน โจทก์ร่วมจึงหลบหนีออกไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ร่วมดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์ร่วมย่อมหมดอิสระในการเคลื่อนไหวร่างกายไปที่อื่น และไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้เป็นเวลาถึง 133 วัน เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมไม่ได้รับประทานยาแก้โรคเบาหวาน ทำให้อาการกำเริบ มีเลือดปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ อันเป็นการกระทำที่เลวร้ายยิ่งกว่าการปฏิบัติต่อนักโทษที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำเสียอีก การกระทำของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำโดยทรมานจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคสอง หาใช่มาตรา 313 วรรคแรก ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ และความผิดตามมาตรา 313 วรรคสอง ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกตลอดชีวิตอันเป็นโทษขั้นต่ำของกฎหมายจึงเป็นการลงโทษสถานเบาที่สุดแล้วศาลฎีกาไม่อาจลงโทษต่ำกว่ากฎหมายได้ แต่จำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ ศาลชั้นต้นจึงปราณีโดยลดมาตราส่วนโทษให้อีกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำเลยที่ 2 จึงได้รับโทษเพียงจำคุก 33 ปี 4 เดือน อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากอยู่แล้ว”
พิพากษายืน.