แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 คำว่า “บุตร” ตามมาตรา 73 (2) มิได้หมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่รวมถึงบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนด้วย เมื่อโจทก์เป็นบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามมาตรา 73 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2546 นายจือ แซ่ฮึง ผู้ประกันตน ซึ่งเป็นบิดาที่แท้จริงของโจทก์ทั้งสิบสามคนได้ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสิบสามในฐานะบุตรที่แท้จริงจึงได้ยื่นเรื่องขอรับเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 แต่ได้รับการปฏิเสธในการจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทั้งสิบสามไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน โจทก์ทั้งสิบสามได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ โดยอ้างว่ามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4940/2545 วินิจฉัยไว้แล้วว่า บุตรตามมาตรา 73 (2) หมายความถึงบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนด้วย แต่คณะกรรมการอุทธรณ์ก็ยังมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบสามโดยอ้างเหตุผลว่า โจทก์ทั้งสิบสามไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสิบสาม เพราะโจทก์ทั้งสิบสามแม้จะไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจือ แซ่ฮึง ผู้ประกันตน แต่โจทก์ทั้งสิบสามก็เป็นบุตรที่แท้จริงของผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตนได้ให้การศึกษาเลี้ยงดูอยู่อาศัยร่วมกันมาโดยตลอด ยกว้นโจกท์บางคนที่ได้มีครอบครัวและแยกครอบครัวไปแต่ก็ยังคงไปมาหาสู่ในฐานะบิดาและบุตรโดยตลอด โจทก์ทั้งสิบสามเห็นว่าโจทก์ทั้งสิบสามเป็นบุตรตามความหมายของคำว่าบุตรที่ประกฏในมาตรา 73 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตายกับทั้งยังมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในมาตรานี้ไว้แล้ว โดยผู้อำนวยการสำนังงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 และคณะกรรมการอุทธรณ์ก็ได้รับทราบว่ามีคำวินิจฉัยดังกล่าวแต่ก็ยังปฏิเสธการจ่ายเงินให้โจทก์ทั้งสิบสาม การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจทำให้โจทก์ทั้งสิบสามได้รับความเสียหาย ขอเรียกค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของ ต้นเงิน 75,000 บาท นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2546 อันเป็นวันที่ปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ 796/2546 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 และให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้โจทก์ทั้งสิบสามจำนวน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ 796/2546 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสิบสามไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีถึงแก่ความตายของนายจือ แซ่ฮึง ผู้ประกันตน ชอบด้วยเหตุผลตามข้อกฎหมายแล้ว หามีเหตุต้องยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแต่ประการใดไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 796/2546 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 และให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นบุตรของนางชุนหง ปิงสุทธิวงศ์ กับนายจือ แซ่ฮึง ผู้ประกันตนซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2546 ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายด้วยอาการเส้นเลือดหัวใจตีบและปอดอักเสบ โจทก์ทั้งสิบสามได้ยื่นคำขอรับเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย คือ เงินสงเคราะห์ต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งสิบสามมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ โจทก์ทั้งสิบสามอุทธรณ์คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยที่ 796/2546 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ให้ยกอุทธรณ์ โดยวินิจฉัยว่า มารดาของโจทก์ทั้งสิบสามมิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ประกันตน โจทก์ทั้งสิบสามจึงมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน ไม่มีสิทธิรับเงินประโยชน์ทดแทนที่เป็นเงินสงเคราะห์ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ในฐานะบุตรตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) หรือไม่ ข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า บุตรที่จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสิบสามมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราห์ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “บุตร” ว่ามีความหมายอย่างไร ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มีการบัญญัติถึงบุตรไว้สองแบบ กล่าวคือ ในหมวด 5 ว่าด้วยประโยชน์ทดแทนในกรณีตามมาตรา 73 (2) เกี่ยวกับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ใช้คำว่า “บุตร” ส่วนในหมวด 6 ว่าด้วยประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร ตามมาตรา 75 ตรี ใช้คำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” และในหมวด 7 ว่าด้วยประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามมาตรา 77 จัตวา (1) ใช้คำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” เมื่อใช้คำต่างกันในพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ แสดงว่ามีความประสงค์จะให้ความหมายของคำว่า “บุตร” แตกต่างไปจากคำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แล้วจะเห็นได้ว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่น โดยจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้นมาเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่นที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตายอันมิใช่เนื่องมาจากการทำงาน ทั้งนี้ โดยมุ่งหมายให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ซึ่งลูกจ้างผู้ประกันตนส่วนใหญ่มักจะอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามมาตรา 73 (2) (ก) และ (ข) ก็คือเงินสมทบส่วนหนึ่งที่ผู้ประกันตนได้ส่งไว้แล้วกฎหมายจึงบัญญัติให้เฉลี่ยจ่ายแก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน จึงเห็นว่าตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 คำว่า “บุตร” ตามมาตรา 73 (2) จึงมิได้หมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่จำเลยอุทธรณ์มาเท่านั้น แต่รวมถึงบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสิบสามเป็นบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสิบสามจึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.