แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอน อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะ จำเลยที่ 1 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเฉพาะ จำเลยที่ 1 ย่อมเด็ดขาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 202หมายความว่า จำเลยที่ถอน อุทธรณ์แล้วจะยื่นอุทธรณ์อีกไม่ได้ แต่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หากจำเลยผู้หนึ่งคัดค้านคำพิพากษาซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกัน ถ้า ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ลงโทษจำเลยและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 213 บัญญัติให้อำนาจไว้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288, 289, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 83 ให้จำคุกคนละ 20 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 ทำความเห็นแย้งว่าพยานโจทก์ไม่เพียงพอรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสอง สมควรให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 1และให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ด้วย
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเฉพาะจำเลยที่ 1ผู้ถอนย่อมเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 202ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 นั้นเห็นว่า ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หากจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกัน ถ้าศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ลงโทษจำเลย และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213บัญญัติให้อำนาจไว้ คำว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน หมายความเพียงว่าจำเลยที่ถอนอุทธรณ์แล้ว จะยื่นอุทธรณ์อีกไม่ได้ หาได้ห้ามศาลอุทธรณ์ใช้อำนาจตามมาตรา 213 ไม่ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต่อไปตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์นำสืบนางประเสริฐภรรยาผู้ตายว่าขณะเกิดเหตุได้มีการลอบยิงมาจากทางเข้าด้านหน้าของห้างไร่ตามที่ปรากฏในแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.1 หลังจากผู้ตายถูกกระสุนปืนล้มลงที่พื้นหน้าครัวแล้วคนร้ายสองคนได้ขึ้นมาบนห้างไร่และใช้ปืนที่ติดตัวมาคนละกระบอกยิงผู้ตายซ้ำอีกคนละนัด แต่มีเสียงดังเชียะ ๆ คล้ายกับกระสุนไม่ลั่น คนร้ายทั้งสองจึงพากันกระโดดลงจากห้างไร่หลบหนีไป นางประเสริฐเห็นคนร้ายทั้งสองในระยะห่างเพียงวาเดียวและจำหน้าได้ว่าคือจำเลยทั้งสองซึ่งเคยรู้จักมาก่อนนอกจากนี้ผู้ตายยังได้กล่าวหลังจากถูกยิงระบุชื่อจำเลยทั้งสองว่าเป็นคนร้ายต่อนางประเสริฐและนางบุญมาพี่นางประเสริฐด้วย คำเบิกความของนางประเสริฐที่ว่าคนร้ายทั้งสองยังขึ้นมายิงผู้ตายซ้ำบนเรือนอีกมีน้ำหนักน่าเชื่อเพียงใดนั้น เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนางบุญมาซึ่งคงเบิกความสอดคล้องกับนางประเสริฐในข้อเท็จจริงที่พยานทั้งสองต่างได้ยินจากคำกล่าวของผู้ตายซึ่งระบุตัวคนร้ายแล้วยังน่าสงสัยอยู่ว่า หากนางประเสริฐเห็นตัวคนร้ายทั้งสองดังที่อ้างแล้วก็น่าจะบอกให้นางบุญมาซึ่งมาพบนางประเสริฐและผู้ตายหลังเกิดเหตุได้ทราบด้วย คำเบิกความของนางบุญมาที่ว่าได้เข้าไปถามผู้ตายถึงคนร้ายว่าเป็นใครนั้น จึงแสดงว่าผู้ตายได้ลอบยิงมาจากข้างล่างเรือนโดยนางประเสริฐไม่เห็นหน้าคนร้าย หากนางบุญมาได้ทราบจากนางประเสริฐถึงตัวคนร้ายที่ขึ้นมายิงผู้ตายซ้ำบนเรือนแล้ว ก็น่าจะไม่สอบถามผู้ตายอีก เช่นเดียวกับนายเอนกพยานโจตทก์อีกปากหนึ่งซึ่งได้หวนกลับมาที่ห้างไร่ผู้ตายหลังจากเพิ่งกลับไปได้ชั่วครู่เพราะได้ยินเสียงปืน ก็ไม่ปรากฏว่าได้ทราบจากนางประเสริฐถึงคนร้ายที่ขึ้นมายิงผู้ตายบนเรือนแต่อย่างใด คงได้ความเพียงว่านางประเสริฐได้บอกให้ทราบว่าผู้ตายถุกนายมายิงเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นข้อเท็จจริงที่นางประเสริฐได้ยินจากผู้ตายก็ได้ เพียงคำอ้างของนางประเสริฐในส่วนนี้จึงยังรับฟังไม่สนิทใจนัก ดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้ตายได้กล่าวถึงคนร้ายที่ยิงว่าเป็นใครก็ตาม ก็อาจเป็นเพราะความเข้าใจของผู้ตายซึ่งมีสาเหตุอยู่กับจำเลยที่ 1 กับพวกมิใช่เพราะได้เห็นตัวคนร้ายขณะเกิดเหตุนั้น นอกจากคำกล่าวของผู้ตายแล้วโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นประกอบเป็นข้อพิสูจน์ให้ฟังได้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้วฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน.