คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่ได้รับยกให้ที่ดินและครอบครองมา ย่อมแสดงว่าได้ครอบครองที่ดินในฐานะเป็นเจ้าของโดยสงบและเปิดเผยเมื่อเกิน 10 ปี ก็ได้กรรมสิทธิ์
เมื่อวินิจฉัยว่า ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองก็ไม่มีประเด็นจะต้องวินิจฉัยว่า การยกให้แต่แรกนั้นจะมีหนังสือหรือไม่
เอกสารบันทึกของเจ้าพนักงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับให้ศาลต้องรับฟังเด็ดขาดนั้น เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้โต้เถียงอยู่ว่าเจ้าพนักงานเทียบปีและบันทึกปีผิดไป ดังนี้ ฝ่ายนั้นย่อมมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าความจริงเป็นปีใดแน่

ย่อยาว

ได้ความว่า เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน แล้วหย่าขาดจากกันเมื่อ พ.ศ. 2480 ในบันทึกของเจ้าพนักงานที่ลงว่า หย่าขาดกันเมื่อ 2481 โดยเทียบปีฉลูผิดไป คราวหย่ากันนี้โจทก์ยอมยกที่นามีโฉนดซึ่งได้รับมรดกจากบิดามารดาให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย 1 แปลง จำเลยได้ครอบครอง จนบัดนี้กว่า 10 ปีแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งแสดงกรรมสิทธิ์โดยครอบครอง ศาลสั่งตามขอและได้สั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนโฉนดใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เสร็จไปแล้ว โจทก์มิได้คัดค้าน ต่อมาโจทก์มาฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งและทำลายนิติกรรมการโอน จำเลยต่อสู้ว่า ได้ที่พิพาทด้วยความสุจริตโดยชอบด้วยกฎหมายและคำสั่งศาล

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบและเปิดเผยในฐานะเป็นเจ้าของมากว่า 10 ปี ทั้งศาลได้สั่งแสดงว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองเสร็จไปแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายซึ่งมีว่า 1. ศาลจะวินิจฉัยว่า โจทก์ยกที่นาพิพาทให้จำเลยไม่ได้ เพราะการยกให้ไม่มีหนังสือ 2. ศาลจะรับฟังว่าหย่าขาดจากกันเมื่อพ.ศ. 2480 ไม่ได้ เพราะเอกสารบันทึกของเจ้าพนักงานว่า หย่ากันเมื่อ พ.ศ. 2481 ยังไม่ถึง 10 ปี

ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับ ข้อ 1 นั้น ศาลไม่ได้วินิจฉัยให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์เพราะการยกให้ ที่ศาลวินิจฉัยถึงประเด็นข้อยกให้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทในฐานะเป็นเจ้าของโดยสงบและเปิดเผย เมื่อเกิน 10 ปีก็ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ในข้อ 2. เห็นว่า จำเลยได้โต้เถียงอยู่ว่าได้หย่าขาดกับโจทก์เมื่อปีฉลูตรงกับ พ.ศ. 2480 แต่เจ้าพนักงานเทียบ พ.ศ. ผิด จึงบันทึกลงไปเป็น พ.ศ. 2481 เอกสารบันทึกของเจ้าพนักงานนี้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ศาลต้องรับฟังเป็นเด็ดขาด จำเลยมีสิทธิที่จะนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าความจริงหย่ากันเมื่อ พ.ศ. ใดแน่

พิพากษายืน

Share