แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 12 ทำข้อตกลงแบ่งแยกที่ดินพิพาทกับโจทก์ อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (12) ในขณะที่จำเลย 12 เป็นผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงในเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 และมีผลกระทบถึงจำนวนเนื้อที่ดินตลอดจนตำแหน่งของที่ดินที่จะแบ่งแยก ย่อมเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันไม่อาจแบ่งแยกออกได้จากนิติกรรมซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ได้ร่วมกระทำ ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ด้วย โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสิบสองแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ตนตามข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม
โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกากำหนดตำแหน่งของที่ดินที่จะขอแบ่งแยกเป็นของตนเองเท่านั้น โดยจำเลยทั้งสิบสองไม่ได้โต้แย้งในเรื่องจำนวนที่ดินที่โจทก์พึงได้รับอีก จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสิบสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 38145 เนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 84 ตารางวา โดยเป็นของโจทก์ 1 ไร่ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทางด้านทิศใต้ติดถนนประชาร่วมใจ และที่ดินโฉนดเลขที่ 38163 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา โดยเป็นของโจทก์ 1 ไร่ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 โจทก์และจำเลยทั้งสิบสองได้ยื่นคำขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมตามส่วนที่ดินของโจทก์ เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขามีนบุรี ได้ทำการรังวัดแบ่งแยกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยทั้งสิบสองไม่ลงชื่อจดทะเบียนแบ่งแยกและไม่ได้นำที่ดินทั้งสองแปลงไปจดทะเบียนแบ่งแยกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองไปดำเนินการลงชื่อจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเพื่อออกโฉนดใหม่ให้แก่โจทก์โฉนดละ 1 ไร่ ตามคำขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 และบันทึกถ้อยคำลงวันที่ 10 สิงหาคม 2535 โดยให้จำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินเลขที่ 38145 และ 38163 ไปจดทะเบียนแบ่งแยก ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี หากจำเลยทั้งสิบสองไม่ไปขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบสอง และหากจำเลยที่ 1 ไม่นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนแบ่งแยก ขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี เพื่อให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 38145 และ 38163 ใหม่เพื่อดำเนินการตามคำขอท้ายฟ้องให้เสร็จสิ้น ให้โจทก์รับโฉนดที่ดินใหม่ 2 โฉนดในส่วนของโจทก์ที่ได้รังวัดแบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 38145 และ 38163 จากเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 12 ให้การว่า โจทก์และจำเลยทั้งสิบสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดพิพาทในส่วนเท่าๆ กัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 12 ไม่ได้ตกลงให้โจทก์ทำการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ เนื้อที่ 1 ไร่ ในที่ดินทั้งสองแปลงแต่โจทก์มีความประสงค์ที่จะทำการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 โจทก์จึงไปยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี ซึ่งจำเลยทั้งสิบสองได้ตกลงยินยอมให้โจทก์ไปทำการรังวัดตามสิทธิของโจทก์และจำเลยทั้งสิบสองคนคนละ 1 ส่วน เท่าๆ กัน สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 38145 ส่วนที่เป็นของโจทก์ตามสิทธิให้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโดยทางทิศใต้ติดถนนประชาร่วมใจ แต่การรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินทางด้านทิศใต้ ซึ่งติดถนนประชาร่วมใจให้มีหน้ากว้างในอัตราส่วนเท่าๆ กันเป็นจำนวน 13 ส่วน ส่วนความยาวนั้นให้มีความยาวตลอดไปจนถึงปลายสุดทางด้านทิศเหนือทั้งนี้เพื่อจะให้โจทก์และจำเลยทั้งหมดได้มีทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ทุกคนเท่าเทียมกัน ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 38163 จำเลยทั้งสิบสองตกลงให้โจทก์ทำการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม แต่การรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินให้มีหน้ากว้างในอัตราส่วนเท่าๆ กันเป็นจำนวน 13 ส่วน ส่วนความยาวให้มีความยาวไปจนถึงปลายสุดของที่ดินด้านทิศตะวันตก ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้โจทก์และจำเลยทั้งหมดได้รับส่วนแบ่งเท่าๆ กัน และมีทางออกสู่ทางสาธารณะประโยชน์เท่าเทียมกัน แต่โจทก์ได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงเกินส่วนของโจทก์ และเกินสิทธิที่โจทก์จะพึงได้โดยจำเลยทั้งสิบสองไม่ยินยอม นอกจากนี้ขณะที่โจทก์ทำการรังวัดนั้นจำเลยที่ 12 ยังเป็นผู้เยาว์ซึ่งจำเลยที่ 12 ก็ได้บอกล้างนิติกรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 38163 และโฉนดเลขที่ 38145 ตำบลทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร เนื้อที่แปลงละ ตารางวา ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 12 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 38163 และโฉนดเลขที่ 38145 ตำบลทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่แปลงละ 1 ไร่ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 12 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันว่า โจทก์และจำเลยทั้งสิบสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 38145 และโฉนดเลขที่ 38163 ตำบลทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 84 ตารางวา และ 3 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา ตามลำดับ โจทก์และจำเลยทั้งสิบสองตกลงแบ่งแยกที่ดินกันโดยให้โจทก์ได้ที่ดินแปลงละ 1 ไร่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 38145 ให้ส่วนของโจทก์อยู่ทางด้านทิศตะวันออกด้านทิศใต้ติดกับถนนประชาร่วมใจ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 38163 ส่วนของโจทก์อยู่ทางด้านทิศใต้ สำหรับที่ดินที่เหลือหลังจากแบ่งให้โจทก์แล้วเป็นส่วนของจำเลยทั้งสิบสองและโจทก์กับจำเลยทั้งสิบสองได้ไปพบเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 เพื่อขอแบ่งแยกที่ดินตามข้อตกลงซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้บันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม และทำใบนัดทำการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2 (ศาลจังหวัดบัวใหญ่) กับเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 7 และวันที่ 10 สิงหาคม 2535 โจทก์และจำเลยทั้งสิบสองได้นำนายไพโรจน์ ปฐมทินกรกุล เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินส่วนของโจทก์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 38145 และ 38163 ตามลำดับ ซึ่งนายไพโรจน์ได้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน ในส่วนของโจทก์มีเนื้อที่และตำแหน่งที่ดินตามข้อตกลงที่ได้บันทึกถ้อยคำการรังวัดแบ่งแยกให้โจทก์และจำเลยทั้งสิบสองลงชื่อไว้ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ป.จ.5, ป.จ.6 และ ป.จ.8 ถึง ป.จ.10 (ศาลจังหวัดบัวใหญ่) และนายไพโรจน์ได้วาดรูประวางแผนที่ดินที่โจทก์ได้รับการแบ่งแยกว่าอยู่ตรงส่วนไหนของที่ดินเดิมตามข้อตกลงแล้วตามสำเนารูประวางแผนที่เอกสารหมาย จ.6 และ จ.8 แต่จำเลยทั้งสิบสองไม่ยอมไปพบเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ตามข้อตกลง ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 38145 และ 38163 เนื้อที่แปลงละ 1 ไร่ โดยมิได้ระบุว่าที่ดินที่โจทก์ได้รับส่วนแบ่งอยู่ตรงส่วนไหนของที่ดินแต่ละแปลง โจทก์จึงฎีกาขอให้ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่มิได้ระบุว่าที่ดินที่โจทก์ได้รับส่วนแบ่งอยู่บริเวณใดของที่ดินแต่ละแปลง และพิพากษาให้โจทก์ได้เนื้อที่ดินแปลงละ 1 ไร่ ตามที่ได้ตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ถึง ป.จ.10 (ศาลจังหวัดบัวใหญ่) ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบสองมีผลผูกพันต่อกันหรือไม่เพียงใด คดีนี้คู่ความไม่โต้แย้งกันว่าขณะทำบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2 (ศาลจังหวัดบัวใหญ่) นั้น จำเลยที่ 12 ยังเป็นผู้เยาว์ ซึ่งสำเนาทะเบียนบ้านท้ายคำแถลงปิดหมายของโจทก์ฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2539 ก็ระบุอยู่ว่าจำเลยที่ 12 เกิดวันที่ 8 พฤษภาคม 2516 ดังนี้ เป็นกรณีที่จำเลยที่ 12 กระทำนิติกรรมในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 2 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร มาตรา 1574 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการทำนิติกรรมบางประการอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ไว้มีผลทำให้ผู้เยาว์หรือผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำนิติกรรมดังกล่างมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการบางอย่างที่สำคัญของผู้เยาว์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 12 ทำข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งแยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกับโจทก์ อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (12) ในขณะที่จำเลยที่ 12 เป็นผู้เยาว์โดยปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงในเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 แล้ว ย่อมเท่ากับว่ากรรมสิทธิ์รวมของจำเลยที่ 12 ยังคงครอบไปเหนือที่ดินพิพาททั้งหมดตามส่วนของตนจนกว่าจะมีการแบ่งแยก ซึ่งมีผลไม่เพียงแต่เฉพาะในเรื่องการกำหนดตำแหน่งของที่ดินตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเท่านั้น แต่ยังมีผลรวมตลอดไปถึงจำนวนเนื้อที่ดินด้วยเพราะหากแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แปลงละ 1 ไร่ ตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ที่ดินพิพาทในส่วนที่เหลือย่อมจะมีจำนวนลดน้อยลง และไม่อาจนำมาแบ่งให้แก่จำเลยทั้งสิบสองได้ในจำนวนเท่าๆ กันโดยไม่กระทบถึงสิทธิในจำนวนเนื้อที่ดินที่จะเลยที่ 12 จะพึงได้รับ ทั้งกรณีไม่อาจที่จะแบ่งที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 12 ก่อน แล้วแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์แปลงละ 1 ไร่ หลังจากนั้นจึงนำมาแบ่งกันในระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยด้วย เพราะพฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจพึงสันนิฐานได้ว่าในขณะทำข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายจะมีเจตนายินยอมให้ดำเนินการแบ่งที่ดินในลักษณะเช่นนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 และมีผลกระทบถึงจำนวนเนื้อที่ดินตลอดจนตำแหน่งของที่ดินที่จะแบ่งแยกเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันไม่อาจแบ่งแยกออกได้จากนิติกรรมซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ได้ร่วมกระทำ ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ด้วย โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสิบสองแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ตนตามข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่งคดีนี้โจทก์ฎีกาเรื่องขอให้ศาลฎีกากำหนดตำแหน่งของที่ดินที่จะขอแบ่งแยกเป็นของตนเองเท่านั้น โดยจำเลยทั้งสิบสองไม่ได้โต้แย้งในเรื่องจำนวนที่ดินที่โจทก์พึงได้รับอีก จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาไว้เกินต้องคืนให้แก่โจทก์”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ