คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6162/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ว. ยื่นคำร้องขอให้ตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. ผู้ตาย การที่ ว. ถึงแก่ความตายจึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีต่อไปเพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของ ว. ไม่ใช่คดีที่ทายาทหรือผู้อื่นจะร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้ ทั้งศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องของ พ. ที่ร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ว. และจำหน่ายคดีของ พ. ออกจากสารบบความแล้ว พ. จึงเป็นบุคคลภายนอกคดี และศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นตามคำร้องของ พ. ดังนี้ คำคัดค้านของ พ. ที่ยื่นคัดค้านผู้ร้องที่ 1 ว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกและขอให้ตั้ง พ. เป็นผู้จัดการมรดก เนื่องจาก พ. เป็นบุตรของ ว. ภริยาของผู้ตาย ทั้ง ว. ถึงแก่ความตายแล้ว พ. เป็นผู้จัดการมรดก ผู้ตายจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก และมีความเหมาะสมมากกว่าผู้ร้องที่ 1 คำคัดค้านของ พ. ที่ยื่นมาภายหลังเป็นการยื่นตามสิทธิของตนเอง ซึ่งมีสิทธิทำได้ จึงมิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำคัดค้านของผู้ร้องขอที่ 1 ที่ 2 และให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำคัดค้านของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ใหม่ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเริ่มต้นใหม่ด้วยการไต่สวนคำคัดค้านของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ขอให้ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. ดังนั้น ก่อนที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำคัดค้านของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 พ. ซึ่งเป็นบุตรของ ว. ภริยาของ ช. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลรับคำคัดค้านของตนไว้พิจารณาได้ ทั้งเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าผู้ใดในระหว่างผู้ร้องที่ 1 และ พ. เป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. การดำเนินกระบวนของศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกินกว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากนางวลัย วรกุล ยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชูชัย วรกุล ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2543 ไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ขอให้มีคำสั่งตั้งนางวลัย ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
นางขุ้ยหั้ว กิตติยานันท์ และนายชูศักดิ์ วรกุล ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ส่วนผู้ร้องทิ้งร้างผู้ตายไปกว่า 10 ปี โดยไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูกัน ทั้งผู้ร้องยังกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก เบียดบังยักยอกทรัพย์มรดกไปหลายรายการไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นนางวลัยผู้ร้องถึงแก่ความตาย นางสาวพอจิต สุวิมลปรีชา ผู้คัดค้านที่ 3 ผู้จัดการมรดกของผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่และขอให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะนางวลัย วรกุล ผู้ร้องออกจากสารบบความ และยกคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
นางสาวพอจิต สุวิมลปรีชา ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกับนายสุชาญ สุวิมลปรีชา ผู้ร้องได้จดทะเบียนหย่ากับนายสุชาญแล้วจดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 3 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก ผู้คัดค้านที่ 1 มีอายุมากและภูมิลำเนาอยู่ที่อื่นไม่สะดวกในการเดินทางจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดก
ศาลชั้นต้นให้เรียกผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และเรียกผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้คัดค้าน และมีคำสั่งตั้งนายขุ้ยหั้ว กิตติยานันท์ ผู้ร้องที่ 1 กับนางสาวพอจิต สุวิมลปรีชา ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกร่วนกันของนายชูชัย วรกุล ผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711, 1713 โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเดิมนางวลัย วรกุล ยื่นคำร้องว่า นายชูชัย วรกุล ซึ่งเป็นสามีถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งนางวลัยเป็นผู้จัดการมรดก นายขุ้ยหั้ว กิตติยานันท์ และนายชูศักดิ์ วรกุล ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายชูชัยผู้ตาย นางวลัยไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้ตั้งนางขุ้ยหั้วเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ก่อนศาลทำการไต่สวนนางวลัยถึงแก่ความตาย นางสาวพิจิต สุวิมลปรีชา ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของนางสาวพิจิตซึ่งยื่นคำร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่และจำหน่ายคดีนางวลัยออกจากสารบบความกับมีคำสั่งยกคำคัดค้านของนางขุ้ยหั้วกับนายชูศักดิ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำคัดค้าน และให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำคัดค้านของนางขุ้ยหั้วและนายชูศักดิ์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ก่อนศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำคัดค้านของนางขุ้ยหั้วและนายชูศักดิ์ นางสาวพอจิต สุวิมลปรีชา ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางวลัย วรกุล กับนายสุชาติ สุวิมลปรีชา นางวลัยได้จดทะเบียนหย่ากับนายสุชาติแล้วจดทะเบียนสมรสกับนายชูชัยผู้ตาย เมื่อนายชูชัยถึงแก่ความตาย มรดกของนายชูชัยย่อมตกทอดแก่นางวลัย ต่อมานางวลัยถึงแก่ความตาย ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งนางสาวพอจิตเป็นผู้จัดการมรดกของนางวลัยตามคำร้อง นางสาวพอจิตจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนายชูชัยผู้ตาย เนื่องจากนางขุ้ยหั้วอายุมากแล้วและมีภูมิลำเนาอยู่ที่อื่นไม่สะดวกในการเดินทางไปจัดการมรดก จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งนางสาวพอจิตเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นให้เรียกผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และเรียกผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้คัดค้าน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ว่า การที่นางสางพอจิตผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านลงวันที่ 8 มิถุนายน 2548 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อนางวลัย วรกุล มารดาของผู้คัดค้านถึงแก่ความตาย คำร้องของนางวลัยที่ขอให้ตั้งนางวลัยเป็นผู้จัดการมรดกของนายชูชัยผู้ตายจึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไป เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้องขอ ไม่ใช่คดีที่ทายาทหรือผู้อื่นจะร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้ ทั้งเมื่อศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องของนางสาวพอจิตที่ร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่นางวลัย และจำหน่ายคดีของนางสาวพอจิตออกจากสารบบความแล้วนางสาวพอจิตจึงเป็นบุคคลภายนอกคดีไม่อยู่ในฐานะคู่ความ และศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาดคดีในประเด็นตามคำร้องของนางสาวพอจิตดังนี้ คำคัดค้านของนางสาวพอจิตฉบับลงวันที่ 8 มิถุนายน 2544 ที่ยื่นคัดค้านผู้ร้องที่ 1 ว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกและขอให้ตั้งนางสาวพอจิตเป็นผู้จัดการมรดกของนายชูชัยผู้ตายเนื่องจากนางสาวพอจิตเป็นบุตรของนางวลัยภริยาของผู้ตาย ทั้งนางวลัยถึงแก่ความตายแล้ว นางสาวพอจิตเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกผู้ตาย ทั้งมีคุณสมบัติเหมาะในการเป็นผู้จัดการมรดกมากกว่าผู้ร้องที่ 1 คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ยื่นมาภายหลังเป็นการยื่นตามสิทธิของตนเอง ซึ่งมีสิทธิทำได้จึงมิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ฎีกาของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ประการต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง (ผู้ร้องทั้งสอง) ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง (ผู้ร้องทั้งสอง) แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีนั้น ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนเฉพาะคำคัดค้านของผู้ร้องทั้งสองโดยไม่มีอำนาจไต่สวนคำคัดค้านของนางสาวพอจิตผู้คัดค้านเพราะเป็นการดำเนินการเกินกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีของนางสาวพอจิตแล้ว คดีคงเหลือแต่คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ซึ่งต่อมาเรียกว่าผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำคัดค้านของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำคัดค้านของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ใหม่ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเริ่มต้นใหม่ด้วยการไต่สวนคำคัดค้านของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ขอให้ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชูชัยผู้ตาย ดังนั้น ก่อนที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำคัดค้านของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 นางสาวพอจิตซึ่งเป็นบุตรของนางวลัยภริยาของนายชูชัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลรับคำคัดค้านของตนไว้พิจารณาได้ ทั้งเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าผู้ใดในระหว่างผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายชูชัย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกินกว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ทุกประการฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share