คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2758/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 จะมิได้กล่าวถึงค่าจ้างหรือค่าเสียหายในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างของลูกจ้างที่ศาลสั่งให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานก็ตามแต่ก็มิได้มีกฎหมายห้ามไว้ ดังนั้นเมื่อศาลสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ศาลมีอำนาจที่จะให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างให้แก่ลูกจ้างผู้ต้องเสียหายได้

คำฟ้องที่เสนอศาลโจทก์ได้ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยด้วย แต่มิได้ทำสำเนาคำฟ้องให้ตรงกับต้นฉบับ คำขอเรื่องดอกเบี้ยจึงขาดไปในสำเนาคำฟ้อง กรณีนี้พึงถือได้ว่าโจทก์มีคำขอเรื่องดอกเบี้ยแล้ว การทำสำเนาคำฟ้องขาดตกบกพร่องไม่ทำให้ต้นฉบับคำฟ้องเสียไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่ง อัตราค่าจ้าง และสภาพการจ้างเดิมเสมือนหนึ่งไม่มีการเลิกจ้างกับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์มีพฤติการณ์ว่าทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยรับกลับเข้าทำงานและเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิม กับให้จ่ายค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือกำหนดค่าเสียหาย ในกรณีที่เห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไป ศาลมีอำนาจสั่งเพียงประการเดียวจะสั่งให้จำเลยปฏิบัติทั้งสองประการไม่ได้นั้น เห็นว่า ค่าเสียหายอันเป็นการทดแทนการกลับเข้าทำงานไม่ได้กับค่าเสียหายในระหว่างลูกจ้างถูกเลิกจ้างต้องขาดค่าจ้างตามปกติที่ไม่ได้ทำงาน เป็นค่าเสียหายที่ต่างประเภทกัน แม้มาตรา 49 มิได้กล่าวถึงค่าจ้างหรือค่าเสียหายในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างของลูกจ้างที่ศาลสั่งให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานก็ตาม แต่ก็มิได้ห้ามมิให้ศาลสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างหรือค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในระหว่างที่จำเลยเลิกจ้าง เมื่อกฎหมายมิได้บัญญัติห้ามศาลไว้ ศาลย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายส่วนนี้ได้เพื่อยังความเป็นธรรมให้เกิดแก่โจทก์ผู้ต้องเสียหาย

จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ และปรากฏว่าสำเนาคำฟ้องที่จำเลยได้รับไม่มีคำขอเรื่องดอกเบี้ย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำฟ้องที่เสนอศาลโจทก์ได้ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยมาด้วยแล้ว แต่มิได้ทำสำเนาคำฟ้องให้ตรงกับต้นฉบับคำขอเรื่องดอกเบี้ยจึงขาดไปในสำเนาคำฟ้อง กรณีนี้พึงถือได้ว่าโจทก์มีคำขอในเรื่องดอกเบี้ยแล้วการทำสำเนาคำฟ้องขาดตกบกพร่องไม่ทำให้ต้นฉบับคำฟ้องเสียไป ปัญหาเรื่องดอกเบี้ยนี้ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share