แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ตีราคาสินค้าคงเหลือที่ซื้อมาเกิน 3 ปี ให้ต่ำกว่าทุนโดยใช้เกณฑ์ร้อยละ 15 ของราคาทุน แล้วคำนวณกำไรสุทธิโดยถือราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดซึ่งน้อยกว่าราคาทุนในรอบระยะเวลาบัญชีของปีนั้น ซึ่งราคาสินค้าคงเหลือนี้เป็นราคาที่บริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย เคยรับซื้อคืนจากตัวแทนจำหน่ายเป็นการกำหนดราคาจากวิธีคำนวณตามวิชาสถิติการจำหน่าย มิใช่หลักเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดเองต้องตามเงื่อนไขในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(6) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ประกอบกิจการค้าโดยเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้า อะไหล่ อุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมบำรุง อะไหล่และอุปกรณ์รถยนต์โตโยต้ามีรหัสหมายเลขประจำว่า ใช้กับรถโตโยต้ารุ่นใด รหัสดังกล่าวบางครั้งก็ลบเลือน บางครั้งทางบริษัทโตโยต้าก็เปลี่ยนรหัสหมายเลข ฉะนั้นเมื่อลูกค้ามาซื้ออะไหล่หรืออุปกรณ์โจทก์ก็ไม่สามารถจะขายให้ลูกค้าได้ จึงทำให้อะไหล่และอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ในสต็อกโดยไม่ได้ขายให้แก่ผู้ใด ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 โจทก์จึงได้ตีราคาสินค้าอะไหล่และเครื่องอุปกรณ์รถยนต์โตโยต้าซึ่งมีอายุการซื้อมากว่า 3 ปีแล้ว โดยคำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่านั้น ซึ่งเป็นการคำนวณอย่างถูกตามหลักการบัญชี และอำนาจของกฎหมายอันทำให้สินค้ามีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าเดิมเป็นเงิน 1,746,858.80 บาท และโจทก์ถือเอามูลค่าของอะไหล่และอุปกรณ์ของบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยจำกัด ซึ่งซื้อมาเกินกว่า 3 ปี หลังจากหักจากมูลค่าที่ลดลงนี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 เป็นเงินทั้งสิ้น 1,611,510 บาทภายใน 30 วัน โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์ให้ลดเบี้ยปรับลงเป็นเงิน 348,058.51 บาท คงเรียกเก็บเงินเป็นภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มทั้งสิ้น 1,263,452 บาท โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3และที่ 4 ศาลภาษีอากรกลางอนุญาต
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เดิมโจทก์ตีราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามราคาทุนเรื่อยมาทุกปีจนเมื่อปี 2528 โจทก์ได้ตีราคาสินค้าคงเหลือที่ซื้อมาเกิน 3 ปีให้ต่ำกว่าทุนโดยใช้เกณฑ์ร้อยละ 15 ของราคาทุน ทำให้สินค้าคงเหลือมีมูลค่าต่ำลงกว่ามูลค่าเดิม 1,746,858.80 บาท โจทก์ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีภาษี 2528 ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือจากเจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้นำภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวม 1,611,510 บาท ไปชำระภายใน 30 วัน โดยอ้างว่าโจทก์ตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวดต่ำกว่าราคาทุนเป็นเงิน1,746,858.80 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมิน ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ลดเบี้ยปรับลงเป็นเงิน 348,058.51 บาท โดยเหตุผลว่า โจทก์ปฏิบัติผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คงเรียกเก็บภาษีเพิ่มเงินเพิ่มภาษี และเบี้ยปรับเพียง 1,263,452 บาทโจทก์ยังไม่เห็นด้วย จึงได้ฟ้องเป็นคดีนี้อ้างว่าโจทก์ได้คำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 ตามราคาตลาด ในการคำนวณกำไรสุทธิตามเงื่อนไขในกฎหมายโดยลดราคาสินค้าลงเหลือร้อยละ 15 ของราคาทุน จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า โจทก์ลดราคาสินค้าคงเหลือต่ำลงกว่ามูลค่าเดิม 1,746,858.80 บาท จึงได้ปรับปรุงยอดกำไรสุทธิใหม่แล้ว แจ้งประเมินให้โจทก์เสียภาษีตามฟ้อง
ปัญหาจึงมีว่า โจทก์ได้คำนวณราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดซึ่งน้อยกว่าราคาทุนหรือไม่ เห็นว่า ก่อนหน้านี้โจทก์คำนวณราคาสินค้าคงเหลือตามราคาทุนตลอดมา นายสวิง ผู้สอบบัญชีโจทก์ เห็นว่าไม่ถูกต้อง การคำนวณราคาสินค้าคงเหลือจะต้องคำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า จึงแจ้งให้โจทก์ตรวจสอบราคาตลาดของสินค้าคงเหลือ แล้วโจทก์ได้คำนวณกำไรสุทธิ โดยถือราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดซึ่งน้อยกว่าราคาทุนในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528โจทก์จึงได้โทรศัพท์สอบถามไปยังบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยจำกัด ถึงราคาอะไหล่ค้างสต๊อก โจทก์ได้รับแจ้งว่าอะไหล่ค้างสต๊อกจะมีราคาเหลือเพียงร้อยละ 15 ของราคาทุน โจทก์จึงได้ตรวจสอบอะไหล่ที่เหลือโดยแบ่งออกเป็น 2 จำพวก คืออะไหล่ที่เหลือไม่เกิน 3 ปีจะคำนวณในราคาทุนและอะไหล่ที่เหลือเกิน 3 ปี ซึ่งเป็นอะไหล่ตกรุ่นเสื่อมคุณภาพ ชำรุด หรืออะไหล่ตกค้าง ขายไม่ออก อะไหล่ที่มีอายุเกิน 3 ปีนี้ โจทก์ได้ออกรายการแยกเป็นบัญชีไว้ ซึ่งเป็นสินค้าคงเหลือที่พิพาทนี้ หลังจากถูกเจ้าพนักงานประเมินเรียกตรวจสอบไต่สวนการคำนวณราคาสินค้าพิพาท โจทก์ขอให้บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ทำหนังสือแจ้งราคาสินค้าค้างสต๊อกดังกล่าวให้โจทก์หลังจากเจ้าพนักงานประเมินโต้แย้งการคำนวณราคาสินค้าพิพาทของโจทก์ โจทก์ก็ได้มีหนังสือขอให้ฝ่ายจำเลยส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสินค้าพิพาทซึ่งขณะนั้นยังค้างอยู่ในสต๊อก แต่ฝ่ายจำเลยก็ไม่ยอมไป จึงฟังได้ว่า สินค้าพิพาทมีราคาตลาดน้อยกว่าราคาทุนในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 ราคาสินค้าตกค้างนี้เป็นราคาที่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เคยรับซื้อคืนจากตัวแทนจำหน่ายเป็นการกำหนดราคาจากวิธีคำนวณตามวิชาสถิติการจำหน่าย จึงมิใช่หลักเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดเองดังที่จำเลยอ้างแม้โจทก์จะสอบราคาไปที่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัดแห่งเดียว แต่บริษัทดังกล่าวย่อมทราบวิธีกำหนดราคาสินค้าตกค้างดีเพราะจำหน่ายมานานมีตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ส่วนที่โจทก์ขายสินค้าพิพาทให้แก่อู่สุขุมวิท 47 ในเวลาต่อมาในราคาเพียง252,879 บาท ต่ำกว่าที่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัดที่ตีราคาเหลือร้อยละ 15 ของราคาทุนเป็นเงิน 308,269 บาท นั้นเหตุที่โจทก์ไม่นำไปขายให้แก่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยจำกัด ซึ่งให้ราคาสูงกว่าเพราะโจทก์เพิ่งขายให้แก่อู่สุขุมวิท 47เมื่อปี 2532 ซึ่งในตอนนั้นบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัดไม่มีนโยบายรับซื้อคืนแล้วแม้ราคาจะเหลือเพียงร้อยละ 15 ก็ตามซึ่งกลับทำให้เห็นว่าราคาสินค้าพิพาทเหลือไม่เกินกว่าร้อยละ 15คดีฟังได้ว่าสินค้าพิพาทมีราคาตลาดตามที่โจทก์นำสืบ ซึ่งน้อยกว่าราคาทุนต้องตามเงื่อนไขในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(6) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงมิชอบ
พิพากษายืน