คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4006/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(8) บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงที่จะโอนบ้านและที่ดินพิพาท ซึ่งบุตรผู้เยาว์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วยให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ท.บิดาผู้ตายแต่ผู้เดียว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของ ท. จึงฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของร้อยตรีพิทักษ์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายกับโจทก์ นายทองทิพย์ นางบุญชื่นและนายวิฑูรย์ โดยจำเลยยอมสละมรดกส่วนของตนในบ้านเลขที่ ๑๑๑/๑๑ พร้อมที่ดินให้แก่นายทองทิพย์ และให้จำเลยไถ่ถอนบ้านและที่ดินดังกล่าวโดยใช้เงินจากกองมรดกต่อมานายทองทิพย์ถึงแก่กรรม ก่อนตายนายทองทิพย์ได้ทำพินัยกรรมยกบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์และนางบุญชื่น ครั้นครบกำหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยไม่ยอมไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดินพิพาทขอให้ศาลพิพากษาบังคับ
จำเลยให้การว่าเป็นลายมือชื่อปลอม นายทองทิพย์ไม่ใช่ทายาทไม่มีสิทธิเข้าเป็นคู่สัญญา สัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการตกลงประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่เรียกทรัพย์มรดกส่วนแบ่งของตนตามส่วนที่จะพึงได้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๑ มีข้อความว่า”ฝ่ายที่ ๑ (จำเลย) ยอมสละมรดกส่วนของตนในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่ฝ่ายที่ ๒ (นายทองทิพย์ อินสุวรรณ) ฝ่ายที่ ๑ รับมรดกส่วนของตนเพียงเท่าที่เหลืออยู่ในทรัพย์สินอื่น นอกจากที่ระบุไว้ในสัญญานี้ เมื่อได้แบ่งให้บุตรทั้งสามของฝ่ายที่ ๑ให้ได้รับเต็มส่วนและกองมรดกได้ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น” สัญญาข้อ ๖ มีข้อความว่า “ให้ฝ่ายที่ ๑ จัดการไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดินตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑ โดยใช้เงินจากกองมรดกเฉพาะบ้านและที่ดินพิพาทที่จำนองไว้กับบริษัทไทยเงินทุนพัฒนาจำกัด ให้ฝ่ายที่ ๑ จัดการไถ่ถอนจำนองเพื่อโอนใส่ชื่อฝ่ายที่ ๒ ให้แล้วเสร็จภายใน๑ ปี นับแต่วันทำสัญญานี้” ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความที่ว่าจำเลยตกลงจะไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดินพิพาทแล้วโอนใส่ชื่อนายทองทิพย์ตามสัญญาข้อ ๖ นั้น ย่อมจะมีผลทำให้บ้านและที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายทองทิพย์แต่ผู้เดียว อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิการรับมรดกของผู้เยาว์ทั้งสาม ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๗๔(๘) บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของเด็กเว้นแต่ศาลจะอนุญาต คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแต่ประการใด ข้อตกลงที่จำเลยจะโอนบ้านและที่ดินพิพาทซึ่งผู้เยาว์ทั้งสามมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายทองทิพย์แต่ผู้เดียวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายทองทิพย์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้
พิพากษายืน

Share