แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่ชอบเนื่องจากโรงเรือนที่โจทก์ต้องเสียภาษีมีตามจำนวนที่แจ้งไว้ในปีภาษี 2545 และปีภาษี 2546 เท่านั้น ส่วนโรงเรือนอื่นในพื้นที่ของโจทก์ไม่ได้ใช้งานและไม่ได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าและประกอบการอุตสาหกรรม จึงเป็นการฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยอ้างว่าโรงเรือนอื่นของโจทก์นอกจากที่แจ้งไว้ในปีภาษี 2545 และปีภาษี 2546 ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (5) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ของ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้รับประเมินที่จะต้องจัดทำคำขอยกเว้นภาษียื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้สอบสวนให้แน่นอนก่อนว่าทรัพย์สินที่พิพาทควรได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยกคำขอยกเว้นภาษี โจทก์ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาชี้ขาดและฟ้องคดีต่อศาลตามลำดับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้พิจารณายกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนพิพาท และการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในคดีนี้ก็เป็นการโต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิใช่การยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาคำชี้ขาดของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 26 ที่สืบเนื่องมาจากการขอยกเว้นค่าภาษีตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อโต้แย้งว่าโรงเรือนที่พิพาทได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีภาษีพิพาทได้อีกตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 33 และมาตรา 34 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนประจำปี 2545 (ย้อนหลัง) เล่มที่ 2/50 เลขที่ 31 ฉบับลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 และประจำปี 2546 (ย้อนหลัง) เล่มที่ 2/50 เลขที่ 32 ฉบับลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 เพิกถอนคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 2 เล่มที่ 1/2551 เลขที่ 001 ฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2551 ที่ชี้ขาดให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 5,717,327 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2545 และปีภาษี 2546 (ย้อนหลัง) พร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,217,789 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 5,717,327 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนใบแจ้งการประเมินตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินของปีภาษี 2545 (ย้อนหลัง) เล่มที่ 2/50 เลขที่ 31 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 และปีภาษี 2546 (ย้อนหลัง) เล่มที่ 2/50 เลขที่ 32 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 ให้เพิกถอนใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เล่มที่ 1/2551 เลขที่ 001 ลงวันที่ 30 เมษายน 2551 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของปีภาษี 2545 และ 2546 (ย้อนหลัง) รวมเป็นเงิน 6,217,789 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 5,717,327 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (วันที่ 29 พฤษภาคม 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนและที่ดินตั้งอยู่เลขที่ 33/1 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านป่า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปีภาษี 2545 และปีภาษี 2546 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำนวน 11 ฉบับ โดยสำแดงจำนวนอาคารหรือโรงเรือนไว้ 183 รายการ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีตามที่โจทก์สำแดงตามราคาค่าเช่ามาตรฐานกลาง โจทก์ชำระ ค่าภาษีประจำปีภาษี 2545 เป็นเงิน 1,604,947 บาท และประจำปีภาษี 2546 เป็นเงิน 1,685,195 บาท ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนที่ดินไปยังโจทก์ประจำปีภาษี 2545 ค่ารายปี 24,221,618 บาท คิดเป็นค่าภาษี 3,027,702 บาท และประจำปีภาษี 2546 ค่ารายปี 21,516,999 บาท คิดเป็นค่าภาษี 2,689,625 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 11 และ 12 โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 15 ถึง 48 วันที่ 30 เมษายน 2551 จำเลยที่ 2 แจ้งคำชี้ขาดว่า คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ชี้ขาดในส่วนประจำปีภาษี 2545 มีค่ารายปี 24,221,618 บาท คิดเป็นค่าภาษี 3,027,702 บาท ส่วนปีภาษี 2546 มีค่ารายปี 21,516,999 บาท คิดเป็นค่าภาษี 2,689,625 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 49 ก่อนฟ้องโจทก์ได้ชำระค่าภาษีตามการประเมินและคำชี้ขาดให้แก่จำเลยทั้งสอง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่จำเลยที่ 1 ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินโจทก์ประจำปีภาษี 2545 และปีภาษี 2546 ย้อนหลังและคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบหรือไม่ ปัญหานี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 33 บัญญัติว่า “การขอยกเว้น ขอให้ปลดหนี้ภาษีหรือขอให้ลดค่าภาษีตามความในภาค 1 และภาค 2 นั้น ผู้รับประเมินต้องเขียนลงในแบบพิมพ์ที่ยื่นต่อกรมการอำเภอทุก ๆ ปี พร้อมด้วยพยานหลักฐานที่จะสนับสนุน เพื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้สามารถสอบสวนให้แน่นอนโดยการไต่สวนหรือวิธีอื่นว่าคำร้องขอนั้นมีมูลดี และควรให้ยกเว้นหรือปลดหรือลดภาษีเพียงใดหรือไม่” และมาตรา 34 บัญญัติว่า “ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งยกคำขอยกเว้นหรือคำขอให้ปลดภาษีหรือลดค่าภาษีก็ให้แจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้รับประเมินและผู้รับประเมินมีสิทธิเช่นเดียวกับเรื่องที่บ่งไว้ในหมวดนี้ที่ว่าด้วยการประเมิน” ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าวไม่ชอบเนื่องจากโรงเรือนที่โจทก์ต้องเสียภาษีมีตามจำนวนที่แจ้งไว้ในปีภาษี 2545 และปีภาษี 2546 เท่านั้น ส่วนโรงเรือนอื่นในพื้นที่ของโจทก์ไม่ได้ใช้งานและไม่ได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าและประกอบการอุตสาหกรรม กรณีของโจทก์เป็นการฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยอ้างว่าโรงเรือนอื่นของโจทก์นอกจากที่แจ้งไว้ในปีภาษี 2545 และปีภาษี 2546 ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (5) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ของพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้รับประเมินที่จะต้องจัดทำคำขอยกเว้นภาษียื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้สอบสวนให้แน่นอนก่อนว่าทรัพย์สินที่พิพาทควรได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยกคำขอยกเว้นภาษี โจทก์ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาชี้ขาดและฟ้องคดีต่อศาลตามลำดับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อตามคำฟ้องและทางนำสืบของคู่ความไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้พิจารณายกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนพิพาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงยังมิได้สอบสวนว่าทรัพย์สินที่พิพาทนั้นควรจะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือไม่ และการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในคดีนี้เป็นการโต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาคำชี้ขาดของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 26 ที่สืบเนื่องมาจากการขอยกเว้นค่าภาษีตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อโต้แย้งว่าโรงเรือนที่พิพาทได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีภาษีพิพาทได้อีกตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 33 และมาตรา 34 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้
อนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่ไม่ยอมรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์และคำแถลงขอเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ