แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกำหนดค่ารายปีสำหรับเครื่องจักรของโจทก์นั้นเป็นกรณีหาค่าเช่าไม่ได้ และเทียบเคียงไม่ได้เพราะในเขตบริหารของจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินที่มีลักษณะใกล้เคียงกับทรัพย์สินของโจทก์ตั้งอยู่ การกำหนดค่ารายปีจึงต้องคำนวณจากมูลค่าเครื่องจักรของโจทก์เป็นฐาน เมื่อคดีนี้โจทก์จำเลยไม่ได้นำสืบข้อมูลอื่นที่มีนัยสำคัญในการพิจารณาหาค่ารายปีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่นำสืบรับกันว่าใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากคูณมูลค่าเครื่องจักรในการกำหนดค่ารายปี การใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากคูณมูลค่าเครื่องจักรจึงมีความเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งเป็นสิ่งเดียวในคดีนี้ที่จะใช้วัดสภาวะเศรษฐกิจ แต่ที่จำเลยที่ 1 เห็นควรใช้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลช่วยชาติ 10 ปี ร้อยละ 6.1 ต่อปี เป็นอัตราที่สูงไป ส่วนที่โจทก์เห็นควรใช้ร้อยละ 1.25 ต่อปี ซึ่งเป็นค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วกับดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุดเป็นอัตราที่ต่ำไป เพราะการกำหนดค่ารายปีตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เป็นเพียงการกำหนดค่ารายปีเบื้องต้นเท่านั้น แต่ค่ารายปีอาจเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ แต่การที่ศาลภาษีเห็นสมควรใช้ร้อยละ 4.125 ต่อปี ตามที่คณะกรรมการโจทก์ยอมรับเป็นอัตราที่ต่ำไป อย่างไรก็ดีระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการประเมินค่ารายปีของโจทก์มีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบกรณีเทศบาลตำบลปลายบาง (อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี) ประเมินค่ารายปีเครื่องจักรของการประปานครหลวงที่ติดตั้ง ณ โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 5 ต่อปี ประกอบกับโจทก์ก็เคยยอมรับให้ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอัตราร้อยละ 4.125 ต่อปี แสดงให้เห็นว่า โจทก์ทราบดีว่าอัตราดังกล่าวใกล้เคียงกับการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์ ดังนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงเห็นสมควรนำอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี มาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่ารายปีเนื่องจากเป็นอัตราที่มีการอ้างอิงและปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าเป็นการกำหนดที่สอดคล้องกับการที่จะนำทรัพย์สินออกให้เช่าได้จริงยิ่งกว่าหลักเกณฑ์ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง
คำให้การของจำเลยทั้งแปดไม่ได้ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้หยุดใช้งานเครื่องจักร เพียงแต่ปฏิเสธว่าหยุดใช้งานไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ถือว่ายอมรับตามฟ้องว่าเครื่องจักรหยุดใช้งานปีภาษีพิพาทจริง แม้ศาลภาษีจะวินิจฉัยว่า โจทก์เปลี่ยนเครื่องจักรจากการบรรจุขวดมาเป็นล้างขวด ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้ออื่นไม่ต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดโดยกำหนดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 เป็นเงิน 1,274,071.11 บาท ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีจำนวน 4,846,830.97 บาท ภายในสามเดือนนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 4,846,830.97 บาท นับถัดจากวันครบกำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งแปดให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าให้แก้ไขหนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 8) เล่มที่ 01 เลขที่ 47 ลงวันที่ 18 เมษายน 2546 และใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด. 11) เล่มที่ 1 เลขที่ 01 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2546 เป็นให้กำหนดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 สำหรับโรงเรือนพิพาทเป็นเงินทั้งสิ้น 4,056,811.02 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีจำนวน 2,064,091.06 บาท แก่โจทก์ ภายในสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 2,064,091.06 บาท นับถัดจากวันครบกำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ให้เป็นพับคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปีภาษี 2546 ต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินมายังโจทก์ โดยกำหนดค่ารายปีเป็นเงิน 1,865,486,322.75 บาท และคำนวณค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 78,366,544.73 บาท ตามใบแจ้งรายการประเมิน โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่พิจารณาแล้วมีคำชี้ขาดให้แก้ไขการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยให้ลดค่ารายปีลงเหลือ 131,590,899.24 บาท และลดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินลงเหลือ 6,120,902.08 บาท และแจ้งคำชี้ขาดให้โจทก์ทราบ
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในประการแรกว่า ค่ารายปีสำหรับเครื่องจักรที่ยังใช้งานอยู่ของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 นำมาใช้ในการคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินมีจำนวนเท่าใด ข้อนี้โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่ศาลภาษีอากรกลางเห็นสมควรใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 4.125 ต่อปี มาคำนวณหาค่ารายปีสำหรับเครื่องจักรไม่ชอบ เนื่องจากการที่พลเอกพัฑฒะนะ เสนออัตราร้อยละ 4.125 มาคิดคำนวณกับมูลค่าเครื่องจักรในการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่าเป็นจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินของโจทก์สมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ แต่เป็นการเจรจาที่หาข้อยุติ อัตราดังกล่าวมิใช่ฐานที่จะนำมาคิดคำนวณเพื่อกำหนดค่าเช่าในปีหนึ่ง ตามนัยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ชอบที่ศาลภาษีอากรกลางจะนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วตามที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดค่ารายปีของเครื่องจักรโดยใช้อัตราร้อยละ 1.25 ต่อปี มาคิดคำนวณกับมูลค่าเครื่องจักร ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุด ส่วนจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ไม่มีบทบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ที่บัญญัติให้หาค่ารายปีของทรัพย์สินของผู้ประเมินจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้รับประเมินกับผู้ประเมิน และโจทก์ไม่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจจึงไม่อาจกำหนดค่ารายปีของเครื่องจักรทั้งหมดของโจทก์ที่ยังใช้ทำงานอยู่โดยใช้มูลค่าของเครื่องจักรคูณด้วยอัตราร้อยละ 4.125 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่โจทก์พอใจ และใกล้เคียงกับอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของมูลค่าเครื่องจักรที่เป็นกรณีพิพาทระหว่างเทศบาลตำบลปลายบางกับการประปานครหลวง ซึ่งกรมการปกครองให้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามหนังสือของกรมการปกครอง ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2545 ตามที่ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยไว้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ค่ารายปีตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ หากทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่าคือค่ารายปี แต่หากเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งเป็นไปตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การกำหนดค่ารายปีจึงจะต้องคำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินคือเครื่องจักรของโจทก์เป็นฐาน
เมื่อคดีนี้โจทก์และจำเลยไม่ได้นำสืบข้อมูลอื่นหรือปัจจัยอื่นที่มีนัยสำคัญเพื่อพิจารณาหาค่ารายปีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นการนำอัตราดอกเบี้ยไปคูณกับมูลค่าเครื่องจักร เพื่อให้ได้จำนวนเงินมากำหนดเป็นค่ารายปีเพื่อคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว เมื่อพิจารณาจากที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.1 ต่อปี เทียบเคียงจากอัตราดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติระยะสิบปี ก็เป็นอัตราที่สูงเกินไปเนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยจากการออมเงินที่มีระยะยาวนานถึงสิบปี และเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป ตามที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดค่ารายปีของเครื่องจักรโดยใช้อัตราร้อยละ 1.25 ต่อปี มาคิดคำนวณตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม ก็เห็นว่า ค่ารายปีของปีที่ล่วงหน้ามาแล้วในการกำหนดค่ารายปีเบื้องต้นเท่านั้น แต่ค่ารายปีของทรัพย์สินอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามสภาวะเศรษฐกิจอย่างไรก็ตามในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการประเมินค่ารายปีเครื่องจักรของโจทก์ในคดีนี้ได้มีแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรณีเทศบาลตำบลปลายบาง อำเภอบางกรวย (จังหวัดนนทบุรี) ประเมินค่ารายปีเครื่องจักรของการประปานครหลวงที่ติดตั้ง ณ โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งน่าจะเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในขณะที่มีการประเมินค่ารายปีเครื่องจักรโจทก์ในคดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงเห็นสมควรกำหนดค่ารายปีโดยนำอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี มาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่ารายปี
เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าให้ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 5 ต่อปี มาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณหาค่ารายปีของเครื่องจักร ดังนั้น เมื่อคำนวณค่ารายปีของเครื่องจักรที่ใช้งานอยู่ในลำดับที่ 1, 4, 5, 6, 7 และ 8 โดยใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี มาคูณกับมูลค่าของเครื่องจักร รวมกับค่ารายปีของโรงเรือนที่มิได้มีการโต้เถียงกันตามตารางการประเมินรวมเป็นเงินค่าภาษีที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 1,506,385.60 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กำหนดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 สำหรับโรงเรือนพิพาทเป็นเงิน 4,614,516.48 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่ลดลงเป็นเงินจำนวน 1,506,385.60 บาท ภายในสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนในกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 1,506,385.60 บาท นับจากวันครบกำหนดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ