แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์สำเร็จ นับแต่จำเลยที่ 1 เริ่มพรากผู้เยาว์ขึ้นรถยนต์กระบะบริเวณหลังหอพักโดยมีเจตนาเพื่อการอนาจาร ดังนั้น ไม่ถือว่าผู้เยาว์อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ร่วมรู้เห็นหรือคบคิดกับจำเลยที่ 1 ในการพรากผู้เยาว์ตั้งแต่ต้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการพรากผู้เยาว์ การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขับรถและเรือพาจำเลยที่ 1 และผู้เยาว์ไปส่งที่บ้าน ช. เป็นระยะเวลาหลังมีการกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์สำเร็จแล้ว ไม่ใช่ก่อนหรือขณะกระทำความผิด จึงหาใช่เป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 83 และ 86
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกให้โจทก์ และโจทก์ร่วมทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ และโจทก์ร่วมตามลำดับ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 จำเลยในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 276, 310, 318 และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโจทก์ของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8996/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางจำเริญ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 318 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 318 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 ที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี ฐานแจ้งความเท็จ จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 2 เดือน และฐานพรากผู้เยาว์ จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 18 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี 2 เดือน จำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน และจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีกำหนดคนละ 10 ปี นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8996/2544 ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก จำคุก 5 ปี นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8996/2544 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้ยก
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานพรากผู้เยาว์สำเร็จแล้ว นับแต่จำเลยที่ 1 เริ่มพรากผู้เยาว์ขึ้นรถยนต์กระบะบริเวณหลังหอพักโดยมีเจตนาเพื่อการอนาจาร ดังนั้นนับแต่เวลานั้นไม่ถือว่าผู้เยาว์อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลแล้วเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ร่วมรู้เห็นหรือคบคิดกับจำเลยที่ 1 ในการพรากผู้เยาว์ตั้งแต่ต้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการพรากผู้เยาว์ และการที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ขับรถและเรือพาจำเลยที่ 1 และผู้เยาว์ไปส่งที่บ้านตาชวนเป็นระยะเวลาหลังมีการกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์แล้วไม่ใช่ก่อนหรือขณะกระทำความผิด จึงหาใช่เป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 86
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมเฉพาะความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2574/2540 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8996/2544 ของศาลชั้นต้นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1