แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การข้อหนึ่งว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเนื่องจากยังไม่ดำเนินการตามกระบวนการระงับข้อพิพาทของสัญญาและนำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการอันเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขในสัญญาว่าจ้าง ในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยก็ยังสืบพยานยืนยันข้อต่อสู้นี้ โดยโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อนก็นำสืบรับว่ามีกระบวนการระงับข้อพิพาทตามสัญญา และมีข้อตกลงว่าหากดำเนินการตามกระบวนการนั้นแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทได้ จะต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่การระงับโดยอนุญาโตตุลาการ กล่าวคือ ยอมรับว่ามีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการอยู่ในสัญญาจ้างดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาหลัก เพียงแต่โจทก์นำสืบว่าตามข้อสัญญาดังกล่าวโจทก์มีสิทธิเลือกที่จะไม่ใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยเลือกฟ้องคดีต่อศาล ดังนั้นก่อนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ ควรที่จะวินิจฉัยเสียก่อนว่ามีหรือไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นได้ รวมทั้งข้อที่ว่าข้อตกลงอนุญาโตตุลาการใช้บังคับไม่ได้เพราะโจทก์มีสิทธิเลือกที่จะไม่ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท โดยเลือกที่จะฟ้องคดีต่อศาลแทน ดังที่โจทก์นำสืบหรือไม่ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 10 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในขณะทำสัญญา ซึ่งหากศาลเห็นว่าโจทก์ต้องไปดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามสัญญาก่อน ก็สั่งจำหน่ายคดีนี้เสียเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ โดยศาลไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความฟ้องคดี อำนาจฟ้อง และความรับผิดของจำเลยในการชำระหนี้แก่โจทก์ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาอายุความว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วพิพากษายกฟ้อง ย่อมเป็นเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยให้ไปดำเนินการไต่สวน และมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 17,797,750 ดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทย 735,936,962.50 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 12,825,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้เถียงกันว่าจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ออกแบบวิศวกรรมสำหรับโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้จำเลยในลักษณะหัวจรดท้าย ณ จังหวัดสงขลา โดยกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่จัดทำเอกสารการออกแบบงานวิศวกรรมครบเต็มชุด และประเมินค่าก่อสร้างทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน นับแต่วันที่สัญญามีผลใช้บังคับอุทธรณ์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ประการที่สอง โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่และประการที่สาม จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้เงินค่าจ้างงานงวดแรกและงวดที่สองตามใบแจ้งหนี้ทั้งหกฉบับให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมฟ้องเรียกเอาค่าการงานที่ทำจากจำเลยเกินสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (17) และไม่วินิจฉัยประเด็นอื่น ๆ ต่อไป พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ข้อหนึ่งว่าโจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องต่อศาล เนื่องจากโจทก์ยังไม่ดำเนินการตามกระบวนการระงับข้อพิพาทของสัญญา และยังไม่ได้นำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ เป็นการฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาว่าจ้างโจทก์ดังกล่าวในข้อ 5.1 และในชั้นพิจารณาของศาล จำเลยก็ยังสืบพยานยืนยันข้อต่อสู้นี้ โดยโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อนก็นำสืบรับว่ามีกระบวนการระงับข้อพิพาทตามสัญญา และมีข้อตกลงว่าหากดำเนินการตามกระบวนการนั้นแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทได้ จะต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่การระงับโดยอนุญาโตตุลาการ กล่าวคือ ยอมรับว่ามีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการอยู่ในสัญญาจ้างดังกล่าวซึ่งเป็นสัญญาหลัก เพียงแต่โจทก์นำสืบว่าตามข้อสัญญาดังกล่าวโจทก์มีสิทธิเลือกที่จะไม่ใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยเลือกฟ้องคดีต่อศาล ดังนั้นก่อนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ควรที่จะวินิจฉัยเสียก่อนว่ามีหรือไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นได้ รวมทั้งข้อที่ว่าข้อตกลงอนุญาโตตุลาการใช้บังคับไม่ได้เพราะกรณีตามโจทก์มีสิทธิเลือกที่จะไม่ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท โดยเลือกที่จะฟ้องคดีต่อศาลแทน ดังที่โจทก์นำสืบหรือไม่ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 10 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในขณะทำสัญญา ซึ่งหากศาลเห็นว่าโจทก์ต้องไปดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามสัญญาก่อน ก็สั่งจำหน่ายคดีนี้เสียเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ โดยศาลไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความฟ้องคดีอำนาจฟ้อง และความรับผิดของจำเลยในการชำระหนี้แก่โจทก์ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาอายุความว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วพิพากษายกฟ้องย่อมเป็นเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2535 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1)
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 10 เสียก่อน และมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.