แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอให้บังคับคดีเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลยได้โดยไม่ต้องรอให้มีผู้จัดการมรดกหรือแบ่งมรดกระหว่างทายาทของจำเลยก่อน การที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยแม้โจทก์จะคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลย และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ก็ไม่ใช่เหตุสมควรที่ศาลจะสั่งงดการบังคับคดีไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งห้าและผู้ร้องสอดฝ่ายละ 10,000,000 บาท โดยแบ่งชำระภายในวันที่ 5 มกราคม 2538 ฝ่ายละ 3,000,000 บาท ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 ฝ่ายละ 3,000,000 บาทและภายในวันที่ 5 มกราคม 2539 ฝ่ายละ 4,000,000 บาท หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทุกงวด ให้โจทก์ทั้งห้าและผู้ร้องสอดบังคับคดีได้ทันที นอกจากนี้จำเลยยอมยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 11994 และโฉนดเลขที่ 59794 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งห้า กับยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 10245 ให้แก่ผู้ร้องสอดโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อจำเลยถึงแก่กรรมและให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและให้ยกเลิกพินัยกรรมของจำเลยทั้งหมดในทรัพย์สินส่วนที่ตกลงกันนี้ ฯลฯ คดีถึงที่สุด
ต่อมาโจทก์ทั้งห้าและผู้ร้องสอดยื่นคำขอว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ร้องสอด จึงขอให้ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ตามคำขอ
หลังจากนั้นนายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2538 และทำพินัยกรรมแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตามคดีหมายเลขดำที่ 5053/2538 ขอให้แต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ แต่จำเลยที่ 2 (ที่ถูกโจทก์ที่ 2 ) ยื่นคำคัดค้านอ้างว่า พินัยกรรมปลอมและขอให้แต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ด้วยเหตุที่โจทก์ทั้งห้าเป็นมารดาและบุตรมีส่วนได้เสียในมูลหนี้เดียวกัน ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมข้างต้นจึงขอให้งดการบังคับคดีและเลื่อนการชำระเงินเฉพาะรายนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปจนกว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดพร้อม
ครั้นถึงวันนัด ทนายโจทก์ทั้งห้าแถลงว่า เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าจำเลยผิดนัด โจทก์ทั้งห้าในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไปได้ ศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิจะขอให้ศาลบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า เหตุตามคำร้องสมควรที่จะให้งดการบังคับคดีไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2) หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1734 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น” มาตรา 1737 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย” และมาตรา 1738 บัญญัติว่า “ก่อนแบ่งมรดก เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับชำระหนี้เต็มจำนวนจากกองมรดกก็ได้ ฯลฯ” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวโจทก์ทั้งห้าในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมขอให้บังคับคดีเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลยได้โดยไม่ต้องรอให้มีผู้จัดการมรดกหรือแบ่งมรดกระหว่างทายาทของจำเลยก่อน ฉะนั้นการที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลย แม้โจทก์ที่ 2 จะคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลย และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลก็ตาม กรณีก็หาใช่เหตุสมควรที่ศาลจะสั่งงดการบังคับคดีไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292(2) ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน