คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 805/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 ไม่ใช้บังคับถึงวิธีการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการเรียกลูกหนี้ของผู้ล้มละลายให้ชำระหนี้ให้แก่กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 119 มาตรา 119 ได้กำหนดวิธีการให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กระทำเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายล้มละลายโดยเฉพาะเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในการสอบสวนหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการไปตามอำนาจและหน้าที่ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้มีฐานะเป็นคู่ความในคดีดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 89 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีหน้าที่อ้างเอกสารหมาย ร.ค.1 และ ร.ค.4 มาประกอบคำกล่าวอ้างของตน และซักค้านผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ของผู้ล้มละลายและถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้องให้ชำระหนี้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยและพิพากษาให้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ร้องให้ชำระเงินค่าหุ้นที่ค้าง 75,000 บาท แก่จำเลย ผู้ร้องปฏิเสธ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยืนยัน ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลว่ามิได้เป็นผู้ถือหุ้นและไม่ค้างชำระค่าหุ้น ขอให้กลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยได้สอบถามผู้ร้องเกี่ยวกับลายเซ็นชื่อของผู้ร้องอันปรากฏอยู่ในตอนท้ายของเอกสารหมาย ร.ค.1 และร.ค.4 ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างส่งต่อศาล ผู้ร้องแถลงรับว่าเป็นลายเซ็นชื่อของผู้ร้องจริงแต่คัดค้านว่า เอกสารหมาย ร.ค.1 และ ร.ค.4ศาลไม่ควรรับฟัง เพราะในชั้นสอบสวนหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ให้ผู้ร้องดู แล้วผู้ร้องและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่างแถลงว่าไม่ติดใจจะสืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยคดีโดยถือเอาคำร้อง คำคัดค้าน และเอกสารหลักฐานที่ระบุอ้างประกอบการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 89 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หาเกี่ยวข้องกับวิธีการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการเรียกลูกหนี้ของผู้ล้มละลายให้ชำระหนี้ให้แก่กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 ไม่ เพราะมาตรา 119 ได้กำหนดวิธีการให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กระทำเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายล้มละลายโดยเฉพาะ เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้อ้างเอกสารหมาย ร.ค.1 และร.ค.4 มาประกอบคำกล่าวอ้างของตน ทั้งมิได้ซักค้านผู้ร้องไว้ว่าเหตุใดจึงมีลายเซ็นชื่อของผู้ร้องในเอกสารนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในการสอบสวนหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการไปตามอำนาจและหน้าที่ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติล้มละลายดังกล่าวมาข้างต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้มีฐานะเป็นคู่ความในคดี ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 89 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีหน้าที่จะต้องกระทำดังที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวในฎีกา ครั้นเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องดำเนินคดีนี้ขึ้นในศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แถลงคัดค้านแล้ว ความยังปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะคู่ความในคดีได้ปฏิบัติการเกี่ยวกับการระบุพยานของตนชอบด้วยวิธีพิจารณาที่บังคับไว้ในการนั้นและผู้ร้องก็ได้ตรวจดูเอกสารเช่นนี้แล้ว ตามที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2512 และวันที่ 17เมษายน 2512 จึงไม่เห็นมีเหตุผลแต่ประการใดที่จะให้ศาลปฏิเสธไม่ยอมรับฟังเอกสารเช่นว่านั้น ฎีกาของผู้ร้องที่ว่าคดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีหลักฐานอันใด แสดงว่าผู้ร้องเป็นหนี้บริษัทลูกหนี้อยู่ จึงฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share