คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3993-3994/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดี 2 เรื่อง ได้พิจารณาพิพากษารวมกัน ต้องพิจารณาทุนทรัพย์เป็นรายคดีมิใช่ถือทุนทรัพย์ 2 คดี มารวมกันคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ เมื่อคดีสำนวนหลังมีทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์เพียง 42,168.49 บาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 อุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ในสำนวนหลังด้วยจึงไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในสำนวนหลังชอบแล้ว แม้ในชั้นฎีกาผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การวินิจฉัยลายมือชื่อในเอกสารว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าศาลต้องฟังข้อพิสูจน์จากผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด และสิ่งใดที่บุคคลธรรมดาอาจตรวจเห็นได้แล้วศาลก็ย่อมตรวจเห็นเองได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงมีอำนาจตรวจสอบลายมือชื่อของจำเลยในเอกสารหลายฉบับในสำนวนเปรียบเทียบกันเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่าลายมือชื่อผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยได้
โจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุใบเสร็จรับเงินท้ายฎีกาเป็นพยานและไม่ได้นำสืบไว้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2542 จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ 95,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 เมษายน 2543 เมื่อครบกำหนด จำเลยผิดนัด ดอกเบี้ยนับแต่วันกู้ยืมจนถึงวันฟ้อง 26,196.57 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 121,196.57 บาท สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2541 จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 30,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินและดอกเบี้ยไว้ คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนโจทก์ โจทก์ทวงถามแต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยคงค้างต้นเงินโจทก์ 30,000 บาท ดอกเบี้ยนับแต่วันกู้ยืมจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,168.49 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 42,168.49 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 121,196.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 95,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยชำระเงิน 42,168.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนในสำนวนแรก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ให้ยกสำนวนหลัง คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์สำนวนหลังทั้งหมดแก่โจทก์
โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวน โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัย “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในสำนวนหลังเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนรวมกันโดยพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยมิได้พิพากษาในแต่ละสำนวนว่าเป็นอย่างไร โจทก์จึงอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยมีทุนทรัพย์รวม 163,365.06 บาท ซึ่งโจทก์สามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่คดี 2 เรื่องได้พิจารณาพิพากษารวมกัน ต้องพิจารณาทุนทรัพย์เป็นรายคดี มิใช่ถือทุนทรัพย์ 2 คดีมารวมกันคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าคดีสำนวนหลังมีทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์เพียง 42,168.49 บาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 การที่โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ในสำนวนหลังด้วยจึงไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในสำนวนหลัง จึงชอบแล้ว แม้ในชั้นฎีกาผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มา ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับสำนวนแรก โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าลายมือชื่อผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 มีรูปลักษณะตัวอักษรคุณสมบัติการเขียนและขนาดโตกว่าลายมือชื่อของจำเลยในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.4 หรือในใบแต่งทนายความ หรือในรายงานกระบวนพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านลายมือชื่อ จะวินิจฉัยด้วยการมองขนาดตัวอักษร และชี้ขาดว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยไม่ได้ สมควรส่งลายมือชื่อของจำเลยในสำนวนแรกไปให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิสูจน์ก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การวินิจฉัยลายมือชื่อในเอกสารว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่นั้น ไม่มีกฎหมายบังคับว่าศาลต้องฟังข้อพิสูจน์เป็นหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญก่อนแต่อย่างใดและสิ่งใดที่บุคคลธรรมดาอาจตรวจเห็นได้แล้ว ศาลก็ย่อมตรวจเห็นเองได้ ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงมีอำนาจตรวจสอบลายมือชื่อของจำเลยในเอกสารหลายฉบับในสำนวนเปรียบเทียบกันเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่า ลายมือชื่อผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยได้
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ภาระการพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยอ้างว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย แต่เป็นลายมือชื่อที่โจทก์ปลอมขึ้นมา ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ศาลฎีกาเห็นว่า ในสำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 95,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยให้การว่า ไม่ได้กู้เงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว ลายมือชื่อในช่องผู้กู้เงินเป็นลายมือชื่อปลอมไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย เท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไป โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ โจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่เอกสารปลอม จึงชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์ไปเอาเงินค่าอ้อยจากโรงงานน้ำตาลมิตรผลมาให้จำเลยกู้ยืม โดยโจทก์ยื่นใบเสร็จรับเงิน ลงวันที่ 22 เมษายน 2542 มาท้ายฎีกาด้วยเพื่อสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินจริงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเป็นพยานและไม่ได้นำสืบไว้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืนในสำนวนแรก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ให้ยกฎีกาสำนวนหลัง คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาสำนวนหลังทั้งหมดแก่โจทก์

Share