คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3841/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เงินที่จำเลยทั้งสองพยายามลักจากตู้โทรศัพท์สาธารณะ ไม่ใช่ทรัพยที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (10) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ปรับบทลงโทษตามมาตรา 335 (10) จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยวิธีสูดควันเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และต่อมาจำเลยทั้งสองกับนายสมชายร่วมกันลักเงินค่าโทรศัพท์ โดยใช้เหล็กชะแลงงัดตู้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ผู้เสียหาย อันเป็นการทำลายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะ แล้วลักเงินจำนวน 2,186 บาท ของผู้เสียหายซึ่งอยู่ภายในตู้โทรศัพท์ดังกล่าวไป จำเลยทั้งสองกับนายสมชายลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นและจับกุมจำเลยทั้งสองกับนายสมชายเสียก่อน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองกับพวกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 334, 335 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธข้อหาพยายามลักทรัพย์ แต่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) (7) (10) วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 (ที่ถูก ต้องระบุมาตรา 83 ด้วย) อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกาดังกล่าว เห็นว่า โจทก์มีพันตำรวจโทพิสุทธิ์พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุมีร่องรอยคล้ายถูกของแข็ง ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญา ที่ระบุว่า ตู้โทรศัพท์มีร่องรอยคล้ายถูกของแข็งบริเวณช่องใส่กุญแจล็อกกับตู้ พันตำรวจโทพิสุทธิ์ไปตรวจที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุ เวลา 7 นาฬิกา หลังจากเกิดเหตุประมาณ 6 ชั่วโมง อันเป็นการตรวจสถานที่เกิดเหตุตามอำนาจหน้าที่ในฐานะพนักงานสอบสวน และพันตำรวจโทพิสุทธิ์ไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสอง เชื่อว่าตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุมีร่องรอยคล้ายถูกของแข็งที่บริเวณช่องใส่กุญแจล็อกกับตู้ เมื่อพิเคราะห์ประกอบพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ถือชะแลงอยู่ในตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุแล้ว เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ใช้ชะแลงงัดตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุ แม้จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้แตะต้องเงินที่อยู่ในตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุ แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 นับว่าใกล้ชิดพร้อมที่จะเอาเงินในตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุไปได้ในทันทีทันใด ซึ่งอยู่ในขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว เพียงแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะร้อยตำรวจเอกศักดาพบจำเลยที่ 2 ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะลักทรัพย์ดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปยังตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 2 และขณะที่จำเลยที่ 2 พยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ได้ยืนอยู่ด้านนอกตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุโดยมีคีมล๊อกประแจเลื่อนอยู่ที่ตัวของจำเลยที่ 1 และมีไขควงอยู่ที่ตะกร้าหน้ารถจักรยานยนต์ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 รู้ว่าจำเลยที่ 2 จะไปลักทรัพย์ที่ตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 1 พร้อมที่จะนำอุปกรณ์ดังกล่าวเข้าไปช่วยจำเลยที่ 2 ลักทรัพย์ของผู้เสียหายทันที อันมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 ลงจากรถจักรยานยนต์ไปพูดคุยกับนางสาวกาญจนานั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 1 นาฬิกา อันเป็นยามวิกาล จึงเป็นการผิดปกติวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะถือชะแลงไปพูดคุยกับนางสาวกาญจนา ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ชะแลง คีมล๊อก ประแจเลื่อน และไขควงเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีไว้ใช้ประจำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไม่ใช่เครื่องมือโดยสภาพที่ใช้ในการลักทรัพย์โดยตรง นั้น เห็นว่า การลักทรัพย์เงินที่อยู่ในตู้โทรศัพท์คนร้ายจะต้องงัดบริเวณช่องใส่กุญแจล๊อกกับตู้โทรศัพท์ เพื่อจะนำเงินที่อยู่ในตู้โทรศัพท์ออกมา แม้ชะแลง คีมล๊อก ประแจเลื่อน และไขควง จะเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีไว้ใช้ประจำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาก็ตามแต่ชะแลง คีมล๊อก ประแจเลื่อน และไขควง ก็สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ในการงัด แงะหรือจับบริเวณช่องใส่กุญแจล็อกกับตู้โทรศัพท์เพื่อจะนำเงินที่อยู่ในตู้โทรศัพท์ไปได้และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกศักดาเห็นพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองอย่างไร และร้อยตำรวจเอกศักดาเบิกความว่า ไม่เห็นว่าจำเลยทั้งสองลงมืองัดตู้โทรศัพท์หรือไม่ เห็นว่า แม้คำเบิกความของร้อยตำรวจเอกศักดา จะฟังไม่ได้ว่าร้อยตำรวจเอกศักดาเห็นจำเลยทั้งสองลงมืองัดตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองเบิกความรับว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถือชะแลงอยู่ในตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 อยู่ด้านนอกตู้โทรศัพท์ที่เกิดเหตุ ซึ่งในการพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องรับฟังจากคำเบิกความของประจักษ์พยานเสมอไป พยานพฤติเหตุแวดล้อมก็สามารถรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้ เมื่อโจทก์มีพยานพฤติเหตุแวดล้อมมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด ศาลก็สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองได้ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองพยายามลักเงินจำนวน 2,186 บาท จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ เงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (10) ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษตามมาตราดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (10) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share