คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า การปิดหมายหรือปิดประกาศจะต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ไว้ จึงอยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานที่จะปิดให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะปิดซึ่งเป็นที่เปิดเผยให้เห็นได้ง่าย และไม่จำต้องปิดโดยติดกับตัวทรัพย์ไว้เสมอไป การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์โดยใช้กิ่งไม้เสียบไว้กับต้นไม้บนคูนาในที่ดินพิพาทและปิดที่บ้านของจำเลยโดยผูกไว้กับลูกบิดประตูหน้าบ้านของจำเลยล้วนแต่เป็นการปิดในที่เปิดเผยแลเห็นได้ง่ายทั้งสิ้น กรณีถือได้ว่าเป็นการปิดประกาศโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง แล้ว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้วการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามความหมายของมาตราดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นรวมอยู่ด้วย สำหรับคดีนี้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องถือว่ามี 2 ราย คือ จำเลยและ ส. ผู้ตายซึ่งจำเลยถูกฟ้องให้รับผิดแทนในฐานะทายาทผู้ตายด้วย จึงเห็นได้ว่าจำเลยมี 2 ฐานะ คือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะส่วนตัว และเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะทายาทของผู้ตายด้วย กระบวนพิจารณาใดที่กระทำต่อจำเลยถือได้ว่ากระทำต่อผู้ตายด้วย ซึ่งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จำเลยก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนผู้ตายมาโดยตลอด ทั้งยังปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 ก่อนจำเลยถูกฟ้องคดี และผู้ร้องก็ไปขอประนอมหนี้กับโจทก์ด้วย แต่ผู้ร้องก็มิได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินของผู้ตาย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้จำเลยทราบโดยมิได้แจ้งแก่ผู้ร้องหรือทายาทอื่น ย่อมเป็นการแจ้งแก่จำเลยและแจ้งแก่ผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองรายครบถ้วนแล้ว การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทของนางสมบัติ ผู้ตาย ชำระเงิน 441,121.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงิน 326,765.26 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กันยายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 2,820 บาท และค่าทนายความ 3,000 บาท ให้แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นงวดๆ งวดละไม่น้อยกว่า 3,000 บาท หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์ยึดที่ดินโฉนด เลขที่ 7236 ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง (โพหวี) จังหวัดลพบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นของจำเลย ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีนำยึดที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้ในราคา 480,000 บาท
จำเลยยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยไปในราคาต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีและราคาที่แท้จริงในท้องตลาดเป็นอย่างมาก และการส่งประกาศขายทอดตลาดไปยังบ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 6 ตำบลโคกสลุด อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นบ้านเดิมของจำเลยเป็นการไม่ชอบเนื่องจากจำเลยไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่ทราบประกาศขายทอดตลาด เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสมบัติและเป็นผู้จัดการมรดกของนางสมบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้น ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางสมบัติผู้ตาย ผู้ตายมีทายาททั้งหมด 6 คน เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวโดยทายาทของนางสมบัติไม่ทราบเรื่อง หากทราบก็คงไม่เพิกเฉยให้มีการขายทอดตลาดเพราะผู้ร้องมีเงินพอที่จะไถ่ถอนและซื้อคืนได้ทุกเวลา ทายาททุกคนมีส่วนได้เสียในการขายทอดตลาดทรัพย์ แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไปโดยไม่แจ้งให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกทราบเป็นการไม่ชอบ และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าที่เป็นจริงไม่ขายให้ได้ราคาสูงสุดเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขายเป็นราคาที่แท้จริงและเป็นราคาที่สูงตามสมควรแล้ว การขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการขายโดยเปิดเผย แม้จะขายทรัพย์พิพาทในวันแรกที่กำหนดไว้ในประกาศขายก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย จำเลยมีภูมิลำเนาปรากฏในทะเบียนบ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 6 ตำบลโคกสลุด อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี แม้จำเลยจะไปพักอาศัยอยู่กับภริยาและบุตรที่บ้านเลขที่ 109 หมู่ที่ 7 ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ก็ถือได้ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาทั้งสองแห่ง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ ณ ภูมิลำเนาแห่งใดแห่งหนึ่ง ย่อมถือว่าเป็นการส่งประกาศขายให้แก่จำเลยโดยชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยและผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยและผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทของนางสมบัติ ผู้ตาย ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยเป็นหนี้ที่จำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทของผู้ตายต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ในการยึดทรัพย์นั้น นายอนุกูลในฐานะเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศยึดทรัพย์และปิดประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ ณ ที่ตั้งทรัพย์และที่บ้านของจำเลย โดยเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไปถึงที่ตั้งทรัพย์อันเป็นที่นาพบต้นไม้บริเวณคูนา จึงได้นำประกาศดังกล่าวไปติดโดยใช้กิ่งไม้เสียบไว้ ส่วนการปิดประกาศที่บ้านของจำเลยนั้นปรากฏว่าไม่มีคนอยู่บ้าน เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศที่บ้านของจำเลยโดยผูกไว้ที่ลูกบิดประตู
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและผู้ร้องประการแรกว่า การปิดประกาศยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวชอบหรือไม่ โดยจำเลยและผู้ร้องฎีกาว่า การปิดประกาศ ณ ที่ตั้งทรัพย์ต้องปิดให้ติดกับตัวทรัพย์ที่ถูกยึดโดยตรง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศโดยใช้กิ่งไม้เสียบไว้ที่ต้นไม้บนคูนาบริเวณที่ดินพิพาทย่อมไม่ชอบ และการปิดประกาศที่บ้านของจำเลยก็ต้องปิดโดยให้ติดกับตัวบ้าน คือ บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 6 ตำบลโคกสลุด อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี มิใช่ไปผูกไว้ที่ลูกบิดประตู จึงเป็นการปิดที่ไม่ชอบเช่นกันนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า การปิดหมายหรือปิดประกาศจะต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ไว้ จึงอยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานที่จะปิดให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะปิด ซึ่งต้องเป็นที่เปิดเผยให้เห็นได้ง่าย และไม่จำต้องปิดโดยติดกับตัวทรัพย์ไว้เสมอไป การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์โดยใช้กิ่งไม้เสียบไว้กับต้นไม้บนคูนาในที่ดินพิพาท และปิดที่บ้านของจำเลยโดยผูกไว้กับลูกบิดประตูหน้าบ้านของจำเลย ล้วนแต่เป็นการปิดในที่เปิดเผยแลเห็นได้ง่ายทั้งสิ้น กรณีถือได้ว่าเป็นการปิดประกาศโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคหนึ่ง แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยและผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและผู้ร้องประการที่สองว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดให้แก่จำเลยทราบเท่านั้นโดยไม่ได้แจ้งแก่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายทราบด้วยนั้นเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้ว การดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามความหมายของมาตราดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 (1) ให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นร่วมอยู่ด้วย สำหรับคดีนี้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องถือว่ามี 2 ราย คือ จำเลยและนางสมบัติผู้ตายซึ่งจำเลยถูกฟ้องให้รับผิดแทนในฐานะทายาทผู้ตายด้วย จึงเห็นได้ว่าจำเลยมีสองฐานะ คือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะส่วนตัว และเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะทายาทของผู้ตายด้วย กระบวนพิจารณาใดที่กระทำต่อจำเลยถือได้ว่ากระทำต่อผู้ตายด้วย ซึ่งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ จำเลยก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนผู้ตายมาโดยตลอด ทั้งยังปรากฏตามทางนำสืบของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนางสมบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 ก่อนจำเลยถูกฟ้องคดี และผู้ร้องก็ไปขอประนอมหนี้กับโจทก์ด้วย แต่ผู้ร้องก็มิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินของผู้ตาย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้จำเลยทราบโดยมิได้แจ้งแก่ผู้ร้องหรือทายาทคนอื่น ย่อมเป็นการแจ้งแก่จำเลยและแจ้งแก่ผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองรายครบถ้วนแล้ว การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยและผู้ร้องฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share