แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จชักชวนโจทก์ร่วมให้นำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารล่วงหน้ารายละ 2,000 บาท จากยอดเบี้ยเลี้ยงทหารที่สามารถเบิกจ่ายได้จริงรายละ 2,600 บาท ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารและมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารรวม 118 ราย และมอบเงินรวม 236,000 บาท ให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อห้ามการซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหาร ดังนั้น การซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหารที่จำเลยหลอกโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่กิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามแต่เป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยเพื่อจูงใจให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและยินยอมมอบเงินให้จำเลย ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
การกระทำความผิดของจำเลยไม่สุจริตมุ่งเอาประโยชน์ในทรัพย์ของผู้อื่นเป็นเงินจำนวนมาก โดยจำเลยไม่ได้กระทำการใดที่แสดงว่าสำนึกผิดและมีเหตุอันควรปรานี แม้จำเลยจะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวก็ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91 และขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 191,000 บาท แก่ผู้เสียหายและให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3542/2541 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นางดาราธร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 3 กระทง คงจำคุก 18 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 191,000 บาท แก่ผู้เสียหาย สำหรับคำขอให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3542/2541 ของศาลชั้นต้นให้ยกเนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2540 จำเลยได้ชักชวนโจทก์ร่วมว่าจำเลยสามารถซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารล่วงหน้าได้รายละ 2,000 บาท จากยอดเบี้ยเลี้ยงทหารรายละ 2,600 บาท โดยผู้เสียหายจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนรายละ 600 บาท และต้องแบ่งให้เจ้าหน้าที่การเงินของทหารรายละ 50 บาท โจทก์ร่วมตกลงและมอบเงินซื้อเบี้ยเลี้ยงให้แก่จำเลยไปจำนวน 100,000 บาท จำเลยได้จ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่โจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2540 เป็นเงิน 22,500 บาท และวันที่ 10 สิงหาคม 2540 เป็นเงิน 22,500 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 8 และ 10 สิงหาคม 2540 จำเลยได้ชักชวนโจทก์ร่วมให้ซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารล่วงหน้าอีกเช่นเดียวกัน โจทก์ร่วมตกลงมอบเงินซื้อเบี้ยเลี้ยงให้แก่จำเลยไปอีกจำนวน 24,000 บาท และ 112,000 บาท ตามลำดับ แต่จำเลยนำเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว มิได้นำไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารแต่อย่างใด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารอย่างดีแล้วจากนางสุดสมพี่สาวว่ามีค่าใช้จ่ายและจัดสรรปันส่วนแบ่งกันอย่างไร จะเห็นได้ว่าโจทก์ร่วม นางสุดสมและจำเลยต่างแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันจากการซื้อเบี้ยเลี้ยงทหาร โดยจำเลยเป็นผู้ลงแรงและความสามารถ ส่วนโจทก์ร่วมเป็นผู้ออกเงิน เป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายร่วมกันนั้น เห็นว่า การที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จชักชวนโจทก์ร่วมให้นำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารล่วงหน้ารายละ 2,000 บาท จากยอดเบี้ยเลี้ยงทหารที่สามารถเบิกจ่ายได้จริงรายละ 2,600 บาท โดยในระยะเวลา 1 เดือน เมื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่การเงินของทหารรายละ 50 บาท แล้ว โจทก์ร่วมคงได้ผลประโยชน์ตอบแทนรายละ 550 บาท ซึ่งความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารและมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารรวม 118 ราย และมอบเงินรวม 236,000 บาท ให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และไม่ปรากฏว่ามีข้อห้ามการซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหารแต่อย่างใด ดังนั้น การซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหารตามที่จำเลยหลอกโจทก์ร่วม จึงไม่ใช่กิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้าม แต่เป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยเพื่อจูงใจให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและยินยอมมอบเงินให้จำเลย ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดโทษเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขและการกระทำความผิดของจำเลยไม่สุจริตมุ่งเอาประโยชน์ในทรัพย์ของผู้อื่นเป็นเงินจำนวนมาก โดยจำเลยไม่ได้กระทำการใดที่แสดงว่าสำนึกผิดและมีเหตุอันควรปรานี แม้จำเลยจะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวก็ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน