คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3993/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างมีน้ำขัง ตลอดปีเป็นที่ดินหัวไร่ปลายนา ไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาติดต่อกันเป็นเวลา 8 ปีเศษเป็นการยืนยันว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นแม้จำเลยจะให้การว่าโจทก์เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทของจำเลยหลังจากเจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทแก่จำเลยแล้ว ซึ่งเป็นเวลาไม่ถึง หนึ่งปีก็ตาม คดีก็ไม่อาจมีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลย โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ได้เพราะการแบ่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า 1 แปลง เนื้อที่1 ไร่ 14 ตารางวา เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินหัวไร่ปลายนาของที่ดินโฉนดเลขที่ 6361, 6362, 6363 และ 6365 ซึ่งเป็นของโจทก์ โดยไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ โจทก์เข้าครอบครองใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ปีกและทำประโยชน์อย่างอื่นติดต่อกันมาเป็นเวลา 8 ปีเศษ ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยนำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาททั้งแปลง โจทก์จึงยื่นคำคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนเปรียบเทียบพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย คำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นการไม่ถูกต้องและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ 14 ตารางวา เป็นของโจทก์ซึ่งโจทก์ใช้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ห้ามจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายพูล วิบูลย์ ย่าของจำเลย ต่อมานางพูลโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายหวล วิบูลย์ บิดาจำเลยแล้วนายหวลโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเมื่อปี 2519จำเลยครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันโจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านเมื่อปี 2531 จำเลยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอให้รังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทเจ้าพนักงานที่ดินพิจารณาพยานหลักฐานของจำเลยและโจทก์แล้วเห็นว่า จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องจำเลยมิได้นำรังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ สิทธิเหนือที่ดินพิพาทของจำเลยดีกว่าของโจทก์จึงมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินพิพาทแก่จำเลย โจทก์เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทหลังจากเจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยแล้วซึ่งเป็นเวลาไม่ถึง 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน เนื้อที่ 1 ไร่4 ตารางวา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 จำเลยได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โจทก์คัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินเจ้าพนักงานที่ดินได้สอบสวนเปรียบเทียบพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วให้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยผู้ขอออกโฉนดเพียงผู้เดียว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการไต่สวนและสอบสวนถ้อยคำพยานต่าง ๆ ของคู่กรณีแล้ว จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่ารายงานดังกล่าวทำตรงกับความเป็นจริง เพราะเจ้าพนักงานที่ดินไม่มีส่วนได้เสียกับคู่กรณี ดังนั้น พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อฟังมากกว่าของโจทก์ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท
ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกิน 1 ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านถือได้ว่าโจทก์ได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยเกิน1 ปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสิทธิของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างมีน้ำขังตลอดปีเป็นที่ดินหัวไร่ปลายนา ไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์โจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตอลดมาติดต่อกันเป็นเวลา 8 ปีเศษ โจทก์ได้เข้าครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจากคำฟ้องดังกล่าวแสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมาตั้งแต่ต้น กรณีไม่อาจมีปัญหาเรื่องการแบ่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยแต่อย่างใด โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น
พิพากษายืน

Share