คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามบันทึกหรือหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยได้ทำให้ไว้แก่โจทก์ และสัญญาจำนองอันมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงิน จำเลยรับว่าได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจำนอง และบันทึกรับสภาพหนี้ดังกล่าวให้ไว้แก่โจทก์จริง ตามบันทึกรับสภาพหนี้ มีข้อตกลงในเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ย การผ่อนชำระดอกเบี้ย การชำระเงินต้นเปลี่ยนแปลงไปจากสัญญากู้ยืมเงินฉบับเดิม แสดงว่าโจทก์และจำเลยได้เจตนาผูกพันตามบันทึกรับสภาพหนี้ที่ทำขึ้นใหม่ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยจึงต้องบังคับตามบันทึกการรับสภาพหนี้ เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับเดิมเป็นอันระงับไปโดยบันทึกการรับสภาพหนี้ดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ ตามบันทึกรับสภาพหนี้ที่จำเลยทำกับโจทก์ ไม่ปรากฏข้อตกลงเกี่ยวกับการที่โจทก์จะต้องปลดจำนองที่ดินเป็นแต่ละแปลงให้จำเลยอย่างไร จำเลยกล่าวมาในฟ้องแย้งลอย ๆ โดยไม่มีข้ออ้างที่จะอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาดังกล่าวทั้งมิได้มีคำขอหรือคำบังคับใด ๆ เกี่ยวกับข้อหาที่จำเลยกล่าวอ้างในการฟ้องแย้งของจำเลยแต่ประการใด คดีจึงไม่มีประเด็นว่า โจทก์ผิดสัญญาโดยไม่ปฏิบัติการปลดจำนองแต่ละแปลงให้จำเลยในราคา ที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยกู้เงินจากโจทก์จำนวน 8,870,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ14 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือน กำหนดชำระหนี้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2532จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์อีก 7,630,000 บาท ตกลงเบิกถอนเงินกู้ตามผลงานก่อสร้างภายหลังทำสัญญาจำเลยเบิกเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองไปจากโจทก์รวม 3 ครั้งเป็นเงินทั้งสิ้น 4,255,422 บาท ดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีในการกู้เบิกเงินเกินบัญชี หรืออัตราบี บี แอล เอ็มโออาร์ บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือน โดยจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินน.ส.3 ก. พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้ทุกชนิดของจำเลยเป็นจำนวนเงิน 16,500,000 บาท หากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ยอมให้โจทก์บังคับจำนองได้ หากได้เงินไม่พอ จำเลยตกลงใช้หนี้ส่วนที่ขาดจนครบแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินน.ส.3 ก.ดังกล่าวในนามเดิมออกเป็นจำนวน 43 แปลง แล้วนำไปขอออกโฉนดในนามเดิม รวม 43 แปลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวยังติดภาระจำนองอยู่กับโจทก์ ภายหลังทำสัญญา จำเลยไม่เคยชำระต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกและค้างชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 เป็นต้นไป จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เงินกู้ดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราเท่ากับอัตรา บี บี แอล เอ็มโออาร์ บวกอีกร้อยละ 2 ต่อปี ของต้นเงินกู้ค้างชำระตกลงผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ชำระหนี้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 สิงหาคม 2533 ส่วนหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองนั้น จำเลยไม่เคยชำระต้นเงินคงชำระดอกเบี้ยเพียงบางส่วนเท่านั้น จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เงินกู้ดังกล่าวตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน ชำระหนี้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 สิงหาคม 2533 เช่นกัน ภายหลังทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์ตั้งแต่งวดแรกเป็นต้นไป โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยชำระหนี้บางส่วนโจทก์จึงมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 14,256,085 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,125,422บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับและสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมอำพรางการที่โจทก์ให้จำเลยกู้เงินไปใช้ในการพัฒนาที่ดินก่อสร้างบ้านและสิ่งปลูกสร้างในโครงการของจำเลย โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อจำเลยขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมบ้านได้ โจทก์ยอมปลดจำนองที่ดินเป็นรายแปลงเพื่อนำเงินชำระหนี้โจทก์ จำเลยได้รับเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกไปจากโจทก์และนำไปพัฒนาที่ดินในโครงการดังกล่าวแล้วได้ขอเบิกเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่สองอีกรวม 3 งวดเป็นเงินทั้งสิ้น 4,255,422 บาท โดยโจทก์ให้เบิกเงินกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 70 ของผลงานการก่อสร้าง โจทก์ประเมินผลงานการก่อสร้างต่ำกว่าความจริงเป็นมาก ทำให้จำเลยไม่ได้รับเงินกู้ส่วนที่เหลือจำเลยขอเบิกเงินกู้อีกหลายครั้ง โจทก์ไม่ยินยอม ต่อมาจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับไว้กับโจทก์ มีข้อตกลงว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินกู้ส่วนที่เหลือได้ภายหลังทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย และโจทก์เคยตกลงกับจำเลยว่าหากจำเลยขายที่ดินได้ โจทก์จะปลดจำนองที่ดินให้แก่จำเลยในราคาตารางวาละ 2,500 บาท แต่ต่อมาเมื่อจำเลยขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อได้ 11 แปลง เป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,122 ตารางวา เป็นเงิน 2,805,000 บาท แล้ว โจทก์ไม่ยอมปลดจำนองให้เว้นแต่จำเลยจะชำระเงินค่าที่ดินเพื่อปลดจำนองตารางวาละ 3,000 บาทโจทก์จึงจะปลดจำนองให้ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ไม่ยอมให้จำเลยเบิกเงินกู้ส่วนที่เหลือเป็นเงิน 2,875,398 บาท และค่าเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ไม่ยอมปลดจำนองให้จำเลย เป็นเงิน 2,805,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,680,398 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และให้ชำระค่าขาดรายได้จากกิจการอันเป็นค่าเช่าบังกะโลค่าห้องพัก รายได้จากภัตตาคาร และอื่น ๆ เป็นเงินเดือนละ1,037,952 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 14,256,085 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงิน13,125,422 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระให้โจทก์ยึดที่ดินรวม 43 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างรายจำนองโจทก์ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบจำนวน ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าสมควรกำหนดประเด็นเพิ่มตามคำขอของจำเลยหรือไม่ประเด็นข้อแรกที่จำเลยขอเพิ่ม (1) สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินไปเพื่อพัฒนาที่ดินของโครงการสายธารแวลลี่ย์รีสอร์ทของจำเลยหรือไม่ (2) การที่โจทก์ไม่ยอมปลดจำนองที่ดินแต่ละแปลงให้กับจำเลยเพื่อไปโอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้ซื้อโดยการไม่ยอมให้ไถ่ถอนในราคาที่ตกลงไว้กับจำเลย ทำให้จำเลยไม่สามารถชำระหนี้ให้กับโจทก์เป็นการที่โจทก์ผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามบันทึกหรือหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยได้ทำให้ไว้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533 ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 และสัญญาจำนองตามเอกสารหมาย จ.2 อันมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 จำเลยรับว่าได้ทำสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับและสัญญาจำนองดังกล่าวจริงต่อมาจำเลยก็ได้ทำบันทึกรับสภาพหนี้ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533 ทั้งสองฉบับดังกล่าวให้ไว้แก่โจทก์จริงตามบันทึกสองฉบับดังกล่าว มีข้อตกลงในเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยการผ่อนชำระดอกเบี้ย การชำระเงินต้นเปลี่ยนแปลงไปจากสัญญากู้ยืมเงินสองฉบับแรก แสดงว่าโจทก์และจำเลยได้เจตนาผูกพันตามบันทึกรับสภาพหนี้ทั้งสองฉบับที่ทำขึ้นใหม่ สิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยจึงต้องบังคับตามบันทึกการรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับเป็นอันระงับไปโดยบันทึกการรับสภาพหนี้ทั้งสองฉบับดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าสัญญากู้ยืมเงินสองฉบับดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ ส่วนประเด็นข้อ (2) ที่จำเลยขอให้เพิ่มนั้น เห็นว่า ตามบันทึกรับสภาพหนี้ทั้งสองฉบับที่จำเลยทำกับโจทก์ไม่ปรากฏข้อความว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับการที่โจทก์จะต้องปลดจำนองที่ดินเป็นแต่ละแปลงให้กับจำเลยอย่างไร จำเลยกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีข้ออ้างที่จะอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาดังกล่าวได้ ทั้งมิได้มีคำขอหรือคำบังคับใด ๆ เกี่ยวกับข้อหาที่จำเลยกล่าวอ้างดังกล่าวในการฟ้องแย้งของจำเลยแต่ประการใด คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ผิดสัญญาโดยไม่ปฏิบัติการปลดจำนองแต่ละแปลงให้กับจำเลยในราคาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดเพิ่มประเด็นทั้งสองข้อตามคำขอจำเลยนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share