แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างก็จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายเมื่อปี 2524 ภายหลังจากผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านเมื่อปี 2523 การสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องจึงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1496(ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) ประกอบมาตรา 1452 คือ ในขณะที่ผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องนั้นผู้ตายยังเป็นคู่สมรสของผู้คัดค้านซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1495 แต่เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาศาลแสดงว่าการสมรสของผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะ ต้องถือว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องยังมีอยู่ ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมและมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องมีอาชีพเป็นหลักแหล่งมั่นคง และไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างใด ส่วนผู้คัดค้านมีอาชีพตั้งของขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามทางเท้าไม่เป็นกิจลักษณะทั้งยังเคยถูกจับในข้อหาลักลอบเล่นการพนัน ซึ่งมีผู้ถูกจับรวม 12 คนไม่ใช่เล่นเพื่อพักผ่อนหย่อนใจในระหว่างเพื่อน ๆ และยังเคยไปยืมเงินจำนวน 18,000 บาท จากผู้อื่นและไม่ชำระตามกำหนดย่อมแสดงว่าผู้คัดค้านมีปัญหาทางการเงิน การตั้งผู้จัดการมรดกโดยไม่มีข้อกำหนดตามพินัยกรรม จะต้องคำนึงถึงหน้าที่ในการจัดการมรดกและความประพฤติของผู้จัดการมรดกด้วยเพราะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่รวบรวมและแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท เมื่อเปรียบเทียบฐานะหน้าที่การงานและความประพฤติของผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้วผู้ร้องมีความเหมาะสมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายมากกว่า จึงควรแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้ร้องจดทะเบียนสมรสซ้อนภายหลังผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย การสมรสเป็นโมฆะ ผู้ร้องจึงไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย แต่ผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายไม่ให้เป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของพันตำรวจโทเอกรินทร์ ผู้ตายยกคำคัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2525ตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย ร.2 ผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2523 ตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย ค.3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า การสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะหรือไม่และผู้ร้องเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างก็จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายเมื่อปี 2525 ภายหลังจากผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านเมื่อปี 2523 การสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องจึงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 1496 ประกอบมาตรา 1452 กล่าวคือในขณะที่ผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องนั้นผู้ตายยังเป็นคู่สมรสของผู้คัดค้านซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1495 แต่ผู้คัดค้านก็มิได้นำสืบว่ามีคำพิพากษาของศาลแสดงว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องดังกล่าวเป็นโมฆะดังนั้น เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาศาลแสดงว่าการสมรสของผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะ ต้องถือว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องยังมีอยู่ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมและมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกรายนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2536 ระหว่างนายวิรัตน์ พ้นภัยพาล ผู้ร้อง นางแดง กิตติพงษ์หรือพ้นภัยพาล ผู้คัดค้าน
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านผู้ใดสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามคำผู้ร้องว่าเป็นข้าราชการพลเรือนทำงานประจำอยู่กรมชลประทาน 17 ปี แล้วปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานพัสดุ ผู้ร้องจึงมีอาชีพเป็นหลักแหล่งและมั่นคง และมีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานย่อมมีผลงานและความประพฤติไม่เสียหาย มีความรับผิดชอบสามารถบริหารงานได้มิฉะนั้นจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้างาน และผู้คัดค้านก็มิได้นำสืบว่าผู้ร้องมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างใดส่วนผู้คัดค้านมีอาชีพเป็นผู้ค้าขายปลาแห้งกับยาเส้นโดยตั้งของขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามฟุตบาทไม่เป็นกิจลักษณะไม่ต้องใช้วิชาชีพอันมีความรู้ความสามารถพิเศษทั้งผู้คัดค้านยังเคยถูกจับในข้อหาลักลอบเล่นการพนันซึ่งมีผู้ถูกจับรวม 12 คน ตามเอกสารหมาย ร.12บ่งชัดว่าไม่ใช่เล่นเพื่อพักผ่อนหย่อนใจในระหว่างเพื่อน ๆ และยังเคยไปยืมเงินจำนวน 18,000 บาท จากผู้อื่นและไม่ชำระตามกำหนดจนผู้ให้ยืมต้องไปแจ้งความเป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย ร.13ย่อมแสดงว่าผู้คัดค้านมีปัญหาทางการเงิน การตั้งผู้จัดการมรดกโดยไม่มีข้อกำหนดตามพินัยกรรม จะต้องคำนึงถึงหน้าที่ในการจัดการมรดกและความประพฤติของผู้จะเป็นผู้จัดการมรดกด้วยเพราะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่รวบรวมและแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทเมื่อเปรียบเทียบฐานะหน้าที่การงานและความประพฤติของผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องมีความเหมาะสมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายมากกว่า ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องจดทะเบียนซ้อนอันเป็นการเสื่อมเสียศีลธรรมนั้น ก็ปรากฏจากคำผู้คัดค้านว่าก่อนมีการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านไปอาศัยอยู่ที่อำเภอโพธาราม 4 ปี และไปอยู่กับมารดาอีก 2 ปี ผู้คัดค้านก็ยอมรับว่าไม่ได้อยู่ร่วมกับผู้ตายมาประมาณ 4 ปี แล้วจึงมีลักษณะทิ้งร้างกัน ส่วนผู้ตายอยู่อาศัยกับผู้ร้องจนถึงแก่ความตายโดยไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านแสดงการโต้แย้งผู้ร้องจึงมิได้ประพฤติเสื่อมเสียศีลธรรมในส่วนนี้ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน