แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ก. กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุมาประกอบกิจการรับขนส่งด้วยกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของ ก. ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของ ก. กับจำเลยที่ 2 ร่วมกัน โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้จ่ายเงินค่าซ่อมรถที่เอาประกันภัยไปแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานว่าได้จ่ายไปในวันใดจึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81-0616กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือกิจการของจำเลยที่ 2ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน2 ง-6231 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายวิสูตร เจริญพานิชย์ขับสวนทางมา เป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งคันดังกล่าวพลิกคว่ำได้รับความเสียหาย โจทก์ผู้รับประกันภัยรถเก๋งดังกล่าวได้เสียเงินค่าบริการยกรถและค่าซ่อมไปรวมเป็นเงิน 37,052 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน81-0616 กรุงเทพมหานคร จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 37,052 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2525ถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 1,621 บาท รวมเป็นเงิน 38,683 บาท(น่าจะเป็น 38,673 บาท) และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 37,052 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จสิ้นจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ที่ 3ให้การใจความเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81-0616 กรุงเทพมหานคร และไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 นายวิสูตร เจริญพานิชย์เป็นผู้ขับรถยนต์ด้วยความประมาท จึงเสียหลักพลิกคว่ำตกถนนเองไม่ได้เกิดจากการเฉี่ยวชน ค่าเสียหายไม่เกิน 5,000 บาทขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน25,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 37,052 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2525จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 1,621 บาทตามคำขอของโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัย โจทก์ได้รับประกันวินาศภัยรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 2 ง-6231 กรุงเทพมหานคร จากนายสมศักดิ์ รู้อยู่เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2525 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา จำเลยที่ 1ได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81-0616 กรุงเทพมหานครด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 2 ง-6231 กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งคันดังกล่าวเสียหายโจทก์ได้เสียเงินค่าซ่อมไปแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81-0616 กรุงเทพมหานครไว้กับจำเลยที่ 3 ในประเภทประกันภัยค้ำจุน คงมีข้อที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า (1) จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2และขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ และ (2)จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด
ในประเด็นข้อแรกนั้น โจทก์มีพยานหลักฐานคือ นายสุทิน อายุการผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และมีร้อยตำรวจโทกำธร วาทิตย์ทันธ์ พนักงานสอบสวนผู้สอบสวนคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องหาเบิกความเป็นพยานส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีพยานปากเดียวคือนายสุชาติ อารยวุฒิลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งเบิกความว่า พยานเป็นพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของจำเลยที่ 3 เมื่อเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ไปพบพยานและเล่าให้ฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของนายเกรียงศักดิ์ พันธุโสภณ ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวกลับจากไปส่งมันเม็ดที่อำเภอบางปะกงและจำเลยทั้งสองนำสืบให้ศาลหมายเรียกสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกกล่าวหาว่าขับรถยนต์โดยประมาทซึ่งมีสำเนาหนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-0616กรุงเทพมหานคร ที่กรมการขนส่งทางบกออกให้แนบท้ายสำนวนมาเป็นพยานตามสำเนาหนังสือแสดงการจดทะเบียนดังกล่าวระบุว่าบริษัทสุพัฒน์กิจ จำกัด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบการขนส่งประเภทบรรทุกส่วนบุคคล มีสิทธิครอบครองและใช้รถโดยการเช่าซื้อและบริษัทฮั่วเชียงจั่น จำกัด เป็นเจ้าของรถ ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาจากบริษัทฮั่งเชียงจั่นจำกัด เพื่อประกอบการขนส่งในประเภทบรรทุกส่วนบุคคล และจากใบมอบอำนาจของบริษัทฮั่งเชียงจั่น จำกัด และคำร้องขอรับรถยนต์ไปเก็บรักษาเอกสารหมาย ป.ล.8 แนบท้ายสำเนาสอบสวนประกอบกับคำเบิกความของร้อยตำรวจโทกำธรได้ความว่าเมื่อรถยนต์บรรทุกคันที่เกิดเหตุนี้ถูกยึดในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องหาบริษัทฮั่งเชียงจั่น จำกัด ได้มอบอำนาจให้นายเกรียงศักดิ์ไปรับรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อไปเก็บรักษา โดยนายเกรียงศักดิ์ระบุในคำร้องขอว่า นายเกรียงศักดิ์เป็นผู้เช่าซื้อรถคันดังกล่าวมาแสดงว่านายเกรียงศักดิ์กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันเช่าซื้อรถคันดังกล่าวมาประกอบกิจการรับขนส่งด้วยกัน เมื่อปรากฏว่าในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของนายเกรียงศักดิ์ คดีย่อมฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของนายเกรียงศักดิ์กับจำเลยที่ 2 ร่วมกัน ทั้งปรากฏจากคำเบิกความของนายสุชาติ อารยวุฒิ พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 และคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุบรรทุกมันเม็ดไปส่งที่อำเภอบางปะกง ตามคำสั่งของนายเกรียงศักดิ์เกิดเหตุระหว่างกลับจากส่งมันเม็ดจะกลับจังหวัดปราจีนบุรี แม้นายสุชาติพยานจำเลยที่ 3 จะเบิกความเพียงว่า จำเลยที่ 1 มาพบพยานและบอกว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของนายเกรียงศักดิ์ซึ่งได้วินิจฉัยมาแล้วว่า นายเกรียงศักดิ์ได้ร่วมประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 คดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
สำหรับในประเด็นที่สองนั้น โจทก์มีนายสุทิน อายุการผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์กับนายประเสริฐ ชีวกานนท์ พนักงานผู้มีหน้าที่ติดตามเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์เบิกความว่ารถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 2 ง-6231 กรุงเทพมหานคร ต้องซ่อมตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 ใบสั่งซ่อมเอกสารหมาย จ.3, จ.4 และเสียค่าบริการยกรถตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.9 ส่วนจำเลยมิได้นำสืบในข้อนี้แต่อย่างใดซึ่งพยานหลักฐานโจทก์ทั้งใบเสนอราคาใบสั่งซ่อมตลอดจนใบเสร็จรับเงินล้วนแต่มีรายการสมจริงน่าเชื่อถือปราศจากพิรุธใด ๆ พิจารณาประกอบกับภาพถ่ายหมาย ป.จ.4 ซึ่งเป็นภาพถ่ายของรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 2 ง-6231 กรุงเทพมหานคร หลังเกิดเหตุแล้วฟังได้ว่า โจทก์จ่ายซ่อมรถยนต์ไป 35,552 บาท และเสียค่าบริการยกรถอีก 1,500 บาท รวมเป็นเงิน 37,052 บาท แม้จะปรากฏว่านายประเสริฐ ชีวกานนท์ เบิกความว่าบริษัท บี.เค.มอเตอร์ส (คุงกี่ จำกัด (ผู้ออกใบเสนอราคา)เป็นบริษัทซ่อมรถยนต์ของฝ่ายโจทก์ และปกติแล้วอู่ดังกล่าวมีนายโสภณ จริยาสถาพร ซึ่งเป็นรองผู้จัดการแผนกรถยนต์ของโจทก์เป็นคนออกใบเสร็จรับเงิน ก็ยังไม่พอเพียงที่จะฟังว่าเป็นการเสนอราคาหรือค่าซ่อมสูงเกินไป ดังที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 37,052 บาท จึงชอบแล้ว ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น โจทก์มีเพียงนายสุทิน อายุการ มาเบิกความว่าได้จัดการซ่อมแซมรถที่รับประกันภัยไว้ตามไม่ใช่ใบเสร็จรับเงินแม้เอกสารหมาย จ.4 จะลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2525 ก็ไม่อาจฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระเงินไปในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดบ่งชี้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่าซ่อมไปในวันใดโจทก์จึงไม่อาจจะได้ดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2525ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป”
พิพากษาแก้เฉพาะดอกเบี้ย ให้คิดตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์