แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีฟ้องขอให้แยกสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย เมื่อคำฟ้องโจทก์บรรยายไว้พอเข้าใจได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็มีสินเดิม ดังนี้หากจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสินเดิมประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อมีสินเดิมหรือไม่จึงไม่เกิดขึ้น จำเลยไม่มีสิทธินำพยานมาสืบได้ แม้ศาลชั้นต้นให้จำเลยสืบก็เป็นการสืบนอกประเด็น และหากศาลรับวินิจฉัยก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นและยังมีประเด็นข้ออื่นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยต่อไป แต่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยมาและข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์จำเลยเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาใหม่
โจทก์จำเลยที่ 1 สมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 (เดิม) ความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรส กฎหมายลักษณะผัวเมียไม่ได้บัญญัติไว้ว่าให้มีการแยกสินสมรสโดยไม่ได้ฟ้องหย่า แต่ก็ไม่มีบังคับไว้ว่าถ้ายังไม่หย่าจะต้องบริคณห์ทรัพย์สินกันเสมอไปจะแยกมิได้ ฉะนั้นการที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1475 และ 1484 มาใช้แก่คู่สมรสซึ่งสมรสกันก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 (เดิม)จึงไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงการสมรสหรือความสัมพันธ์ในครอบครัวตามความหมายที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 4(1) และพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 4ได้ยกเว้นนั้นแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยเสน่หาโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งสินสมรสดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีทรัพย์สินคือบ้าน ๑ หลัง ยุ้งข้าว ๑ หลังพร้อมข้าว ๓๐ เกวียน ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๓๑๔, ๔๑๙๔, ๔๑๙๒, และ ๔๓๐๓ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และเงินสดจำนวนประมาณ๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมราคาทรัพย์สินทั้งหมดประมาณ ๑,๒๓๐,๐๐๐ บาทอันเป็นทรัพย์สินซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย๑ ใน ๓ คิดเป็นเงินประมาณ ๔๑๐,๐๐๐ บาท เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ จำเลยที่ ๑ ได้จำเลยที่ ๒ เป็นภรรยา มีบุตรคือจำเลยที่ ๓ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ได้ทอดทิ้งไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้รื้อบ้านซึ่งโจทก์และจำเลยที่ ๑ เคยอยู่กินร่วมกันและร่วมกันปลูกขึ้นไปปลูกใหม่และยังได้ขนย้ายทรัพย์สินดังกล่าวไปไว้ในบ้านดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้โอนที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ โดยเสน่หา โดยโจทก์ไม่ทราบและไม่ยินยอม การกระทำของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวเป็นการจัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาดและสร้างความหายนะให้แก่สินสมรสไม่เหมาะที่จะจัดการสินสมรสทั้งหมดอีกต่อไป ขอให้พิพากษาเพิกถอนการโอนยกให้โดยเสน่หาซึ่งที่ดินโฉนดที่ ๔๓๑๔, ๔๑๙๔,๔๑๙๒ และ ๔๓๐๓ ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ระหว่างจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยที่ ๑ แยกสินสมรสออกให้แก่โจทก์ ๑ ใน ๓หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาขอแบ่งแยกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับที่ดินดังกล่าวส่วนบ้าน ยุ้งข้าว และเงินสด ให้ยึดขายทอดตลาดเอาเงินที่ได้แบ่งให้แก่โจทก์ ๑ ใน ๓
จำเลยทั้งสามให้การว่า เมื่อประมาณ ๖๕ ปีมานี้ โจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นสามีภรรยากัน แต่อยู่กินด้วยกันมาได้ประมาณ ๑๕ ปีก็เลิกจากการเป็นสามีภรรยาและแยกกันอยู่ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้จำเลยที่ ๒ เป็นภรรยา และมีบุตรด้วยกันคือจำเลยที่ ๓ ระหว่างอยู่กินกับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ปลูกบ้าน ๑ หลัง ได้ยกให้โจทก์อยู่อาศัยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ทรัพย์สินตามฟ้องยกเว้นข้าวในยุ้งประมาณ ๓๐ เกวียน และเงินสดประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่มีอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ทำมาหาได้โดยลำพังภายหลังจากเลิกร้างกับโจทก์และได้แยกไว้เป็นส่วนตัวของจำเลยที่ ๑ไม่ใช่สินสมรส จำเลยที่ ๑ มีสิทธิยกให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓โดยเสน่หา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทเรื่องสินเดิม เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อฝ่ายหนึ่งกล่าวหาอีกฝ่ายในข้อสำคัญอย่างไร เป็นหน้าที่ของอีกฝ่ายจะต้องให้การต่อสู้ในข้อนั้น ๆ เพื่อให้เกิดเป็นประเด็นขึ้นคดีนี้โจทก์กล่าวฟ้องเป็นใจความสำคัญว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีทรัพย์สินร่วมกันคือ บ้านยุ้งข้าว ข้าว ที่ดินและเงินสด รวมราคาประมาณ ๑,๒๓๐,๐๐๐ บาทอันเป็นทรัพย์สินซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย๑ ใน ๓ จำเลยที่ ๑ ได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓โดยเสน่หา โจทก์ไม่ทราบและไม่ยินยอม ขอให้เพิกถอนการโอนและให้จำเลยที่ ๑ แยกสินสมรสออกให้แก่โจทก์ ๑ ใน ๓ ดังนี้ คำฟ้องโจทก์แม้จะไม่ได้บรรยายว่าโจทก์มีสินเดิมหรือไม่ แต่โจทก์บรรยายฟ้อต่อมาว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของในทรัพย์สินตามฟ้อง ๑ ใน ๓และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ขอให้แยกสินสมรสให้แก่โจทก์ ๑ ใน ๓คำฟ้องโจทก์ดังกล่าวพอเข้าใจได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างมีสินเดิม เพราะหากโจทก์ไม่มีสินเดิม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิในสินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย จำเลยมิได้ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสินเดิมประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยที่ ๑ ในข้อมีสินเดิมหรือไม่จึงไม่เกิดขึ้น จำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานมาสืบได้แม้ศาลชั้นต้นให้จำเลสืบก็เป็นการสืบนอกประเด็น ศาลรับวินิจฉัยจึงหาชอบไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์จำเลยที่ ๑มีสินเดิมหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิในสินสมรสหนึ่งในสาม เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นและยังมีประเด็นข้ออื่นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไป แต่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยและข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์จำเลยเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาใหม่
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า ก่อนที่จำเลยที่ ๑ จะได้จำเลยที่ ๒ เป็นภรรยา โจทก์และจำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้เลิกร้างกัน และเลิกร้างกันหลังจากได้จำเลยที่ ๒ เป็นภรรยาแล้วหลายปี ที่ดินยุ้งข้าว และข้าวเปลือกเป็นสินสมรส ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดหนึ่งในสาม
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายอีกข้อว่า ในปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิขอแบ่งสินสมรสหรือไม่ เห็นว่าโจทก์จำเลยที่ ๑ สมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสกฎหมายลักษณะผัวเมียไม่ได้บัญญัติไว้ว่าให้มีการแยกสินสมรสโดยไม่ได้ฟ้องหย่า แต่ก็ไม่มีบังคับไว้ว่าถ้ายังไม่หย่าจะต้องบริคณห์ทรัพย์สินกันเสมอไปจะแยกมิได้ ฉะนั้นการที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๕ และ ๑๔๘๔มาใช้แก่คู่สมรสซึ่งสมรสกันก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕จึงไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงการสมรสหรือความสัมพันธ์ในครอบครัวตามความหมายที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๔(๑) และพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชยที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ มาตรา ๔ ได้ยกเว้นไว้นั้นแต่อย่างใดโจทก์มีสิทธิขอแบ่งสินสมรส หรือใส่ชื่อร่วมในเอกสารได้ คดีนี้ได้ความว่า จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ โดยเสน่หาโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งสินสมรสดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดที่ ๔๓๑๔, ๔๑๙๔, ๔๑๙๒ และ ๔๓๐๓ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี จำนวนหนึ่งในสาม และที่ดินตาม น.ส.๓ก. เลขที่ ๒๔๑ ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรีจำนวนหนึ่งในหก ให้จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินแก่โจทก์จำนวน ๒๕,๐๐๐บาท ให้แบ่งบ้านเลขที่ ๑๐๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลโพหัก อำเภอบางแพจังหวัดราชบุรี และยุ้งข้าว ๑ หลัง ให้แก่โจทก์หนึ่งในสามสำหรับที่ดิน หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ส่วนบ้านและยุ้งข้าวหากตกลงกันไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน คำขออื่นให้ยก.