คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 316/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีพิพาทกันด้วยเรื่องที่ดินราคา 2,000 บาทศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ร้องได้ 2 ส่วน ผู้คัดค้านได้1 ส่วน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้คนละส่วน เช่นนี้ถือว่าเป็นการแก้น้อย

ย่อยาว

โจทก์ทั้ง 3 สำนวนกล่าวหาจำเลยทำนองเดียวกันว่า บริษัทเกษตรกรรมทหารผ่านศึก จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือเกษตรสงคราม 2 ซึ่งใช้เดินด้วยเครื่องจักรกล เรือเอก เจือ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมเรือ (นายเรือ) และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 บริษัทเรือลำเลียงโจทก์ โดยกำหนดความรับผิดของฝ่ายจำเลยไว้ว่า “ผู้ให้เช่ายอมจ่ายค่าอันตรายหรือความเสียหายซึ่งต้นเหตุเกิดจากความประมาทหรือความรับผิดชอบของผู้ควบคุมเรือของผู้ให้เช่า” ครั้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2494 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ควบคุมเรือเกษตรสงคราม 2ทำหน้าที่ลากจูงเรือบรรทุกข้าวสารของบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ 2 ลำ ชื่อ ชัยนันท์ กับเรือลำเลียง 40 และเรือไฮ้เฮง ของนายกำธร โจทก์ เพื่อไปส่งข้าวสารขึ้นเรือใหญ่ที่เกาะสีชัง จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ตามทางการที่จ้าง โดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงฝ่าฝืนต่อกฎหมายและพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย ตลอดจนกฎข้อบังคับและประกาศคำสั่งของกรมเจ้าท่า โดยจำเลยรู้อยู่ว่ามีประกาศของกรมเจ้าท่าที่ 11/2494 ลงวันที่ 4 กันยายน 2494 ว่าเรือขุดชาลส์จะทำการลอกสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่กิโลเมตร 0 ตรงหน้าป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ เรือเดินทะเลที่กินน้ำลึกต่ำกว่า 4 เมตรให้เดินเข้าออกได้ทางตะวันตกของทุ่นเขียว โดยหน้าที่และวิธีปฏิบัติการตามหลักวิชาเดินเรือที่ถูก จำเลยจะต้องนำเรือเกษตรสงคราม 2 จูงเรือพ่วงทั้ง 3 ลำเฉียงไปทางฝั่งตะวันตกผ่านทุ่นเขียวของเรือชาลส์ โดยวิธีเลี้ยวชิดทุ่นเขียวให้มากที่สุดที่จะมากได้ หรืออย่างน้อยไม่เกิน 10 เมตรเท่านั้น แล้วตัดเข้าสู่ร่องน้ำ เพราะกระแสน้ำไหลลง และในระยะ 1,700 เมตร มีเรือนิภาอัปปางขวางอยู่โดยมีทุ่นไฟเห็นได้ในระยะ 4 ไมล์ พอที่จำเลยจะตรวจที่ที่เรือเกษตรสงคราม 2 ตกอยู่ในเขตอันตรายหรือปลอดภัยตามหลักวิชาการเดินเรือนำร่องได้ แต่จำเลยมิได้กระทำเช่นนั้น จำเลยกลับนำเรือเกษตรสงคราม 2 จูงเรือของโจทก์ไปห่างทุ่นเขียวกว่า 100 เมตร แล้วเลี้ยวเข้าร่องน้ำ เป็นเหตุให้กระแสน้ำที่กำลังไหลลงพัดเอาเรือลำเลียงของโจทก์ชนทรากเรือนิภาอย่างแรง เชือกขาด และเรือลำเลียง 40 กับเรือไฮ้เฮงจมลงทันที เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามลำดับสำนวน คือ

สำนวนที่หนึ่ง คดีดำที่ 348/2495 ซึ่งนายกำธรเป็นโจทก์นั้นเรือไฮ้เฮงของโจทก์เสียหายต้องเสียค่าซ่อมแซม ค่าคุมงาน ค่าเงินเดือนของลูกจ้างและไต้ก๋ง กับค่าเสียเวลาในการค้ารวม 25 วัน ปรากฎรายละเอียดตามบัญชีท้ายฟ้องรวม 49,008 บาท 45 สตางค์

สำนวนที่สอง คดีดำที่ 349/2495 ซึ่งบริษัทเรือลำเลียง จำกัดเป็นโจทก์ ต้องเสียค่าพยายามกู้เรือลำเลียง 40 ที่จม แต่กู้ไม่ได้จนต้องทำลายตามคำสั่งของกรมเจ้าท่า ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ปรากฎรายละเอียดตามบัญชีท้ายฟ้องรวม 204,692 บาท 06 สตางค์

สำนวนที่สาม คดีดำที่ 457/2496 ซึ่งบริษัทเรือลำเลียง จำกัด เป็นโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในเรื่องข้าวสารที่บรรทุกเรือลำเลียง 40 กับเรือไฮ้เฮง อันโจทก์ต้องชดใช้ให้แก่บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด และบริษัทข้าวไทย จำกัด ไปตามคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีแดงที่ 319/2496 และที่ 329/2496 นั้น รวมทั้งค่าเสียเวลาและค่าธรรมเนียมตลอดจนค่าจ้างทนายในการต่อสู้คดีเป็นเงินทั้งสิ้น770,144 บาท 25 สตางค์ ซึ่งโจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยทางจำเลยตามกฎหมายและสัญญา

ทั้ง 3 สำนวน จำเลยที่ 1 ต่อสู้ในข้อใหญ่ใจความต้องกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือเกษตรสงคราม 2 จริง แต่บริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ได้เช่าเรือลำนี้ไปจากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่เป็นลูกจ้างและปฏิบัติการตามคำสั่งของบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์เอง ซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิด อนึ่ง เรือลำเลียงของโจทก์ไปชนเรือนิภาเป็นเพราะเชือกที่พ่วงเรือขาด อันเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 2 และต้นเหตุที่เรือทั้งสองจะไปชนทรากเรือนิภา ได้เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของคนประจำเรือทั้งสองลำนั้นด้วย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมากมายเกินกว่าความเป็นจริง และในที่สุดตัดฟ้อง คือ

สำนวนที่หนึ่ง คดีดำที่ 348/2495 ซึ่งนายกำธรเป็นโจทก์ว่าโจทก์มิได้มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้รับผิดได้

สำนวนที่สอง คดีดำที่ 349/2495 ซึ่งบริษัทเรือลำเลียง จำกัด เป็นโจทก์ว่า สำเนาฟ้องที่จำเลยได้รับ ไม่มีสำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางในเรื่องการจดทะเบียนบริษัทของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบ

สำนวนที่สาม คดีดำที่ 457/2496 ซึ่งบริษัทเรือลำเลียง จำกัดเป็นโจทก์ว่า นายประสิทธิ์ ทวีสิน จะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์ และมีอำนาจฟ้องแทนบริษัทโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่ทราบขอปฏิเสธ

ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 1 และว่าจำเลยมิได้มีความประมาทเลินเล่อหรือทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตลอดจนกฎข้อบังคับและคำสั่งของกรมเจ้าท่าประการใด หากเป็นเพราะเชือกโยงเรือขาด ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย

ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ข้อตัดฟ้องของจำเลยฟังไม่ขึ้น ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนควบคุมเรือของจำเลยที่ 1 เอง และตามสัญญาเช่าข้อ 11 ก็ระบุความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าอยู่แล้วจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 เรื่องค่าเสียหายมีอยู่หลายรายการที่โจทก์นำสืบไม่ได้ความเพียงพอว่าเสียหายไปมากมายดังฟ้อง และบางรายการเป็นเรื่องห่างไกลกว่าเหตุ ไม่ใช่ผลโดยตรงจากการละเมิดของจำเลย ก็ได้ตัดทอนลง ในที่สุดพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ คือ

(1) สำนวนที่หนึ่ง เป็นเงิน 32,269 บาท 20 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เสร็จ

(2) สำนวนที่สอง เป็นเงิน 140,684 บาท 16 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน

(3) สำนวนที่สาม เป็นเงิน 750,144 บาท 25 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ผู้เดียวฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาได้นั่งฟังคำแถลงการณ์ของทนายจำเลยที่ 1 และตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ความว่า บริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ทำการรับจ้างขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างกรุงเทพฯ กับเกาะสีชังมีเรือลำเลียงสำหรับบรรทุกสินค้าหลายลำ บริษัทเรือลำเลียง จำกัดโจทก์ได้เช่าเรือยนต์เดินทะเลชื่อ “เกษตรสงคราม 2” จากบริษัท เกษตรกรรมทหารผ่านศึก จำกัด จำเลยที่ 1 มาใช้ในการลากจูงเรือลำเลียง ปรากฏข้อความตามสัญญาเช่าหมาย ล.1 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2494 ตลอดมาจนถึงคราวเกิดเหตุเรื่องนี้ ในการลากจูงเรือสินค้าดังกล่าวนอกจากจะลากจูงเรือลำเลียงของบริษัทเรือลำเลียง จำกัดโจทก์แล้วเรือลำเลียงของคนอื่นจะพ่วงติดไปพร้อมกันก็ได้ โดยบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์คิดประโยชน์จากค่าจ้างบรรทุกสินค้าในเรือนั้น

เหตุเรื่องนี้เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2494 โดยบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ สั่งให้เรือเกษตรสงคราม 2 ลากจูงเรือลำเลียงบรรทุกข้าวสารจากอำเภอราษฎร์บูรณะไปส่งเรือใหญ่ที่เกาะสีชังจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุม (นายเรือ) เรือเกษตรสงคราม 2 ได้รับเรือลำเลียงพ่วงไปในคราวนี้ 3 ลำ คือเรือชัยนนท์พ่วงเป็นลำแรกเรือลำเลียง 40 ของบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ เป็นลำกลางและเรือลำเลียงไฮ้เฮงของนายกำธร โจทก์ เป็นลำสุดท้าย บรรทุกข้าวสารเต็มเรือทั้ง 3 ลำ เวลาประมาณ 22.00 นาฬิกาเศษ ระหว่างที่ลากจูงอ้อมทุ่นเรือขุดชาลส์เพื่อตัดเข้าสู่ร่องน้ำทางด้านทิศตะวันออกเรือลำเลียง 40 และเรือลำเลียงไฮ้เฮง ซึ่งเป็นเรือลำเลียง 2 ลำ ท้ายได้ชนกับทรากเรือนิภาซึ่งอยู่ทางด้านขวามือ เรือทั้ง 2 ลำนี้แตกและข้าวสารที่บรรทุกไปในเรือเสียหายเฉพาะข้าวสารบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด และบริษัทข้าวไทย จำกัด ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ ศาลแพ่งพิพากษาให้บริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วปรากฎตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 319/2496 และที่ 329/2496 ตามลำดับ ซึ่งคดีถึงที่สุดไปแล้วทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปตามลำดับ

ฎีกาข้อ 1 ว่า ตามสำนวนคดีดำที่ 457/2496 ฟ้องของโจทก์ระบุว่า “บริษัทเรือลำเลียง จำกัด โดยนายประสิทธิ์ ทวีสิน กรรมการผู้จัดการ โจทก์” เพียงเท่านี้ ไม่เป็นฟ้องของบริษัทโจทก์โดยชอบเพราะตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง จะต้องมีกรรมการอื่นลงชื่อร่วมกันอีกด้วยเป็น 2 คน จึงจะมีอำนาจแทนบริษัทโจทก์ได้

ปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า นาวาตรี หลวงตรณีณัติการกรรมการคนหนึ่งได้ลงชื่อในใบแต่งทนายร่วมกับนายประสิทธิ์ ทวีสินกรรมการผู้จัดการเป็นหลักฐานเพื่อการฟ้องร้องและดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีเรื่องนี้ ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 และถูกต้องตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางอยู่แล้วนายประหยัด เอี่ยมศิลา ทนายความเซ็นชื่อเป็นโจทก์ในฟ้องเสนอต่อศาลพร้อมกับใบแต่งทนายดังกล่าวนั้น ชอบตามมาตรา 62 บริษัทเรือลำเลียง จำกัด ก็เป็นโจทก์ฟ้องคดีเรื่องนี้แล้วโดยสมบูรณ์การที่ระบุในฟ้อง ของโจทก์ว่า “บริษัทเรือลำเลียง จำกัด โดยนายประสิทธิ์ทวีสิน กรรมการผู้จัดการ โจทก์” ก็เพื่อความสะดวกในการติดต่อและดำเนินคดีแทนบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลเท่านั้น หาใช่นายประสิทธิ์ทวีสินมาเป็นโจทก์หรือเซ็นชื่อในฟ้องแทนโจทก์โดยลำพังตนคนเดียวดังความเข้าใจของจำเลยไม่ ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ฎีกาข้อ 2 ว่า ตามสำนวนคดีดำที่ 348/2495 โจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางให้แก่จำเลยพร้อมกับสำเนาฟ้อง ไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณา ศาลจึงไม่ควรรับฟ้องไว้พิจารณา

ตามสำนวนคดีดำที่ 348/2495 นั้น นายกำธรเป็นโจทก์ต่างหากไม่เกี่ยวกับการที่จะต้องมีหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางอย่างใด เข้าใจว่าจำเลยจะลงเลขคดีดำผิดพลาดไป ควรเป็นคดีดำที่ 349/2495 และที่ 457/2496

ปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศ หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางเสนอต่อศาลเพื่อให้ชัดเจนในฐานะของโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นข้อกล่าวหาตามฟ้อง และเมื่อเป็นที่สงสัย จำเลยก็ขอตรวจดูหลักฐานทั้งนี้ได้จากศาลและหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางกรมทะเบียนการค้า อันที่จริงจำเลยก็ไม่ได้มีความสงสัยประการใดในความข้อนี้ยังซ้ำรับรองความเป็นบริษัทจำกัดของโจทก์ไว้ชัดเจนแล้วตามรายงานพิจารณา ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2496 นั้น ปัญหาเรื่องไม่ส่งสำเนาจึงเป็นอันตกไป

ปัญหาข้อ 3 ว่า ตามสำนวนคดีดำที่ 349/2495 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องภายหลังชี้สองสถาน เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180, 181

ข้อนี้ปรากฎว่า ฟ้องของโจทก์ระบุถึงสัญญาเช่าเรือเกษตรสงคราม 2ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฉบับหนึ่ง และสัญญาฉบับนี้ลงวันที่ 15 กันยายน 2494 ครั้นศาลชี้สองสถานแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ว่าเป็นสัญญาลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2494 ซึ่งจำเลยคัดค้านไม่ยอมให้แก้ แต่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้แก้ได้โดนยกเหตุว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องในการอนุญาตให้แก้ เพราะสัญญารายนี้จะทำวัน เดือน ปีใดไม่ใช่ข้อสำคัญ โดยเหตุที่โจทก์และจำเลยต่างอ้างเอกสารสัญญาเช่าลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2494 มาและรับกันอยู่แล้ว

ฟ้องของโจทก์ในเรื่องนี้มิได้กล่าวอ้างสัญญาลงวันที่ 15 กันยายน 2494 เฉย ๆ ยังมีต่อท้ายอีกด้วยว่า คัดสำเนาเสนอมาท้ายฟ้องสำเนาสัญญาท้ายฟ้องที่โจทก์คัดเสนอปรากฎว่า สัญญาเช่านั้น ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2494 ถูกต้องตรงกับความจริง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า คำว่า “กันยายน” ในฟ้องนั้น พิมพ์ผิดไปโดยแท้ คำให้การของจำเลยรับว่ามีสัญญาเช่ากันอยู่จริง และในที่สุดต่างอ้างสัญญาเช่าขึ้นมาปรากฎว่าเป็นสัญญาเช่าลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2494 ตรงกันเพียงฉบับเดียวดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า สำเนาสัญญาเช่าที่โจทก์คัดเสนอท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องอยู่แล้ว มีข้อความถูกต้องตรงกันกับต้นฉบับสัญญาเช่า ซึ่งโจทก์จำเลยต่างมีอยู่พร้อมแล้วในมือด้วยกันทั้งสองฝ่ายเพียงแต่พิมพ์ คำว่า “กันยายน” ในฟ้องผิดพลาดไปคำเดียวดังกล่าวมา ไม่ใช่ข้อสารสำคัญประการใดในคดี และไม่กระทำให้จำเลยเข้าใจผิดเป็นอื่น นอกจากจะแกล้งทำเป็นเข้าใจผิดเท่านั้น การแก้คำผิดที่เห็นได้ชัดว่า เป็นเพราะพิมพ์ผิดพลาดไปเช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจให้แก้ได้เสมอ กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180

ฎีกาข้อ 4 ว่า ตามสัญญาเช่าเรือลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2494 นั้น เด็ดขาดจากจำเลยที่ 1 ไปแล้ว โดยการจ่ายเงินเดือนคนเรือก็ดีอำนาจบังคับบัญชาคนเรือก็ดี ตกอยู่แก่บริษัทเรือลำเลียง จำกัดโจทก์แล้วทั้งสิ้น จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของบริษัทโจทก์เอง หาใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2

คู่ความทุกฝ่ายตลอดจนนายกำธร โจทก์เองรับรองตรงกันว่าบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ ได้เช่าเรือเกษตรสงคราม 2 ไปจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2494 เป็นการถูกต้องข้อเท็จจริงปรากฎว่า บริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์เช่าเรือเกษตรสงคราม 2 นี้ไปเพื่อใช้ในการลากจูงเรือลำเลียงต่าง ๆ เพื่อการค้าของบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์เอง บริษัทเรือลำเลียงจำกัด โจทก์ได้รับมอบเรือลำนี้จากจำเลยที่ 1 มาแล้วตามสัญญาเช่าการจ่ายเงินเดือนคนเรือ และอำนาจสั่งให้เรือไปทำอย่างใด ตกอยู่แก่ผู้เช่า คือบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ ทั้งสิ้น มิได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าแต่ประการใด คู่สัญญาต่างปฎิบัติการถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาเช่าแล้วทุกประการเป็นอันขาดตอนจากจำเลยที่ 1มาแล้ว คนเรือทุกตำแหน่งหน้าที่ตลอดจนตัวจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายเรือจึงเป็นลูกจ้างและอยู่ในบังคับบัญชาของบริษัทเรือลำเลียง จำกัดโจทก์โดยตรง

การที่มีข้อกำหนดว่าผู้เช่ายอมใช้คนประจำเรือทุกตำแหน่งหน้าที่เท่าที่มีอยู่ตามอัตราเรือของผู้ให้เช่า โดยให้อยู่ทำหน้าที่ในเรือตลอดเวลาที่ทำการเช่าตามสัญญาข้อ 3 ก็ดี เรื่องอัตราเงินเดือนคนเรือทุกตำแหน่งตามสัญญาข้อ 5 และบัญชีต่อท้ายสัญญาก็ดี ตลอดจนกำหนดเวลาจ่ายเงินเดือนแก่คนเรือตามสัญญาข้อ 7 และข้อห้ามที่ไม่ให้ใช้เรือไปไกลนอกขอบเขตกรุงเทพฯ-บางแสน หรือเกาะสีชัง ตามสัญญาข้อ 13 ก็ดีล้วนเป็นเพียงแต่เงื่อนไขในสัญญาเช่า ซึ่งพร้อมใจกันกำหนดขึ้นไว้เท่านั้นแม้การย้ายการบรรจุคนเรือตามเอกสารหมาย จ.3,จ.4, และ จ.5 ก็เป็นเรื่องปฏิบัติการตามเงื่อนไขแห่งสัญญาข้อ 3 นั้นเอง ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงให้คนเรือเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ไปได้ ทางแก้ตามสัญญาข้อ 8 ก็เปิดโอกาสอยู่ว่า ถ้าจะให้ฝ่ายผู้ให้เช่า คือจำเลยที่ 1 จ่ายเงินเดือนคนเรือเองก็ได้ ซึ่งถ้าจำเลยที่ 1 เป็นคนจ่ายเงินเดือนเองแล้ว ปัญหาข้อวินิจฉัยก็อาจเปลี่ยนแปลงไป แต่นี่บริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ผู้เช่าไม่ประสงค์เช่นนั้นคงรับเอาไปทั้งอำนาจบังคับบัญชาและอำนาจจ่ายเงินเดือนแก่คนเรือทั้งสิ้น ซึ่งเท่ากับจ้างคนเรือเหล่านี้ไปปฏิบัติการเดินเรือในกิจการของตนตามเงื่อนไขของสัญญาเช่า อันเป็นหลักสำคัญแห่งการที่จะวินิจฉัยว่า คนเรือเป็นลูกจ้างของฝ่ายใดดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในเหตุประการนี้ฟังขึ้น

เมื่อได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์แล้ว คดีจึงเป็นปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์รายใดเพียงใดหรือไม่

สำนวนคดีดำที่ 348/2495 ซึ่งนายกำธรเป็นโจทก์นั้น ปรากฎว่านายกำธร โจทก์ได้มอบเรือลำเลียงไฮ้เฮงไว้แก่บริษัทเรือลำเลียงจำกัด เพื่อใช้บรรทุกสินค้า เมื่อบริษัทเรือลำเลียง จำกัดหาสินค้าบรรทุกเรือลำนี้ได้ค่าจ้างบรรทุกเท่าใดก็หักเป็นรายได้ของบริษัทไป 5 เปอร์เซ็นต์นับเนื่องเป็นกิจการค้าของบริษัทส่วนหนึ่งนายกำธร โจทก์ ติดต่อกับบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โดยตรงต่างหากมิได้มีพันธะผูกพันกับจำเลยที่ 1 เลยแม้แต่น้อย นายกำธร โจทก์ฟ้องคดีในฐานละเมิดก็จริงอยู่ เฉพาะตัวผู้กระทำการละเมิด คือจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายกำธรโจทก์อยู่แล้ว และจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาต่อมา การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดต่อนายกำธร โจทก์ด้วย เพราะอาศัยเหตุที่รับฟังข้อเท็จจริงสมฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งความข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยกลับว่า จำเลยที่ 2ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ดังปรากฎแล้วข้างต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อนายกำธร โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ในเหตุผลประการใด ฟ้องของนายกำธร โจทก์อันเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันตกไป

สำนวนคดีดำที่ 349/2495 และคดีดำที่ 457/2496 ซึ่งบริษัทเรือลำเลียง จำกัด เป็นโจทก์นั้น โจทก์มีสัญญาเช่าผูกพันอยู่กับจำเลยที่ 1 และโดยข้อสัญญาเช่ามีเงื่อนไขบังคับให้ผู้เช่ายอมใช้คนเรือที่ผู้ให้เช่าจัดหามาให้ ในอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างตามที่ผู้ให้เช่ากำหนด ปรากฏตามสัญญาเช่าข้อ 3, 5, 7 และ 13 ดังกล่าวนั้น ผู้เช่าไม่มีสิทธิที่จะไปจ้างคนอื่น ๆ มาทำหน้าที่เดินเรือลำนี้แทนได้ และจำต้องจ้างคนเรือที่จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าเป็นคนจัดหาส่งมาให้ ดังนี้ผู้เช่าจึงเสนอสัญญาข้อ 11 ขึ้นมา อันมีข้อความว่า “ผู้ให้เช่ายอมจ่ายค่าอันตรายหรือความเสียหายซึ่งต้นเหตุเกิดจากความประมาท หรือความรับผิดของผู้ควบคุมเรือของผู้ให้เช่า” ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมตกลงตามนั้นแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นคู่สัญญาของตนตามสัญญาข้อ 11 นี้ จำเลยที่ 1 พยายามแถลงให้เป็นอื่นนั้นไม่มีเหตุผล เพราะต่างกำหนดเงื่อนไขขึ้นตอบแทนกันปรากฏชัดอยู่แล้วในสัญญาเช่าว่าเป็นเช่นนั้นซึ่งแปลได้ง่าย ๆ ว่า เมื่อจะเช่าเรือก็ต้องจ้างเอาคนเรือไปด้วยทั้งหมด และถ้าเกิดเสียหายเพราะความผิดของคนเรือเหล่านี้ก็ยอมรับใช้ให้ ไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงแปลเป็นอื่นไปได้

ฎีกาข้อ 5 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติการด้วยความประมาทเลินเล่อ หากแต่เกิดจากเหตุสุดวิสัย

ปัญหาข้อนี้ แม้แต่ตัวจำเลยที่ 2 เองก็มิได้ฎีกาขึ้นมาเสียแล้วแต่การที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ด้วยหรือไม่ เนื่องจากสัญญาข้อ 11 ดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 จึงเสนอปัญหาข้อนี้ได้

ปกติเรือพ่วงไม่อาจทำอะไรในการเดินเรือได้โดยลำพัง ต้องอาศัยเรือลากจูงที่จะพาไป เรือลากจูงจึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการลากจูงให้ได้รับความปลอดภัยทั้งขบวน ที่เกิดเหตุไม่ใช่ท้องทะเลกว้าง ด้านซ้ายมือเป็นเรือขุดชาลส์ ด้านขวามือเป็นทรากเรือนิภา ซึ่งจมน้ำอยู่ มีทุ่นไฟเป็นเครื่องหมายทั้งสองแห่งช่องน้ำตอนนี้กว้างประมาณในราว 1,700 เมตร จำเลยที่ 2 ให้การรับว่าขณะนั้นกระแสน้ำไหลลงเชี่ยวมาก ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนเดือนมืดและพยัพฝนการกะระยะอาจผิดพลาดได้ง่าย ไม่เหมือนในเวลากลางวันเหตุผลเหล่านี้ จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายเรือย่อมทราบดีอยู่แล้วยังนำเรือพ่วงทั้งขบวนผ่านเข้าไปเพื่อตัดเข้าสู่ร่องน้ำทางด้านทิศตะวันออก จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษยิ่งขึ้น

ฝ่ายโจทก์มีนายจำรัส นายท้ายเรือลำเลียงชัยนนท์ นายกิ๋มหย่วนนายท้ายเรือลำเลียง 40 และนายตุ้ม นายท้ายเรือลำเลียงไฮ้เฮงยืนยันประกอบกันว่า จำเลยที่ 2 นำเรือเกษตรสงคราม 2 ลากจูงเรือลำเลียงทั้ง 3 ลำ นั้นผ่านช่องแคบไม่พ้น เพราะกระแสน้ำไหลลงแรงพาเอาเรือลำเลียง 40 กับเรือลำเลียงไฮ้เฮงไปชนทรากเรือนิภา และเชือกเรือพ่วงครูดกับทรากเรือนิภาจึงขาดจากพวง ส่วนเรือลำเลียงชัยนนท์อยู่ใกล้ชิดกับเรือลากจูง จึงหลุดพ้นไปกับเรือลากจูงได้ นายจำรัสกับนายกิ๋มหย่วนอยู่ใกล้ชิดกับเชือกโยงที่ขาด ได้ยินเสียงเชือกครูดกับของแข็งโดยแรงแล้วขาดออกไป รอยครูดที่เส้นเชือกของกลางก็มีปรากฎอยู่ และพยานโจทก์ยืนยันว่า เชือกขาดไปเองตามธรรมชาติ จะไม่มีรอยเช่นนี้ นอกจากนี้ยังมีนาวาตรีหลวงตรณีณัติการ และนาวาโทหลวงขยันสงครามอธิบายถึงวิธีการเดินเรือ กระแสน้ำ กระแสลม ตลอดทั้งความเร็วของเรือประกอบถ้อยคำประจักษ์พยานของโจทก์ให้เห็นได้ถนัดชัดเจนยิ่งขึ้น กระทำให้น่าเชื่อว่า เป็นความจริง

ฝ่ายจำเลยไม่มีพยานใกล้ชิดกับเหตุการณ์แสดงให้เห็นว่า เชือกขาดไปเองเพราะเหตุใด เพียงแต่อ้างเข้ามาลอย ๆ ว่า เชือกขาดเท่านั้นรอยเชือกของกลางนี้ไม่ได้ขาดไปเองตามธรรมชาติ และรอยครูดที่เส้นเชือกซึ่งสมถ้อยคำพยานโจทก์นั้น จำเลยก็นำมาสืบหักล้างไม่ได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 เอง ปรากฎว่า ตลอดเวลาที่ผ่านเขตอันตรายนี้จำเลยไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปว่า เชือกเรือพ่วงขาดเมื่อใดจนเบนหัวเรือเข้าร่องน้ำแล้ว จึงได้เหลียวดูเรือพ่วง 2 ลำ ก็ไม่ได้ตามมาเสียแล้ว เมื่อพิจารณาประกอบกับหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษดังกล่าวมาแล้วข้างต้น กระทำให้เป็นที่น่าสงสัยไม่น่าเชื่อว่ารูปเรื่องจะเป็นไปได้จริงดังที่จำเลยที่ 2 เบิกความมานั้น เพราะเชือกโยงเป็นเชือกกากมะพร้าวเส้นใหญ่วัดผ่าศูนย์กลางถึง 3 นิ้วฟุต รอยขาดก็ไม่ใช่รอยเปื่อยขาดไปเองตามธรรมชาติ และจำเลยลากจูงเรือลำเลียงที่บรรทุกหนักถึง 3 ลำ แต่ขาดไป 2 ลำ เฉย ๆ จำเลยที่ 2 ก็ยังไม่รู้สึกเสียเลยเช่นนี้ น้ำหนักหลักฐานทางฝ่ายจำเลยจึงไม่ชอบด้วยเหตุผลอันควรแก่การรับฟังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 มาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อบริษัทเรือลำเลียง จำกัด โจทก์ตามสัญญาข้อ 11 นั้น

อาศัยเหตุผลทั้งหลายดังกล่าวมา ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะคดีดำที่ 348/2495 ซึ่งนายกำธรเป็นโจทก์นั้นว่าให้ยกฟ้องของโจทก์เฉพาะข้อหาที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 อนึ่ง คดีเรื่องนี้จำเลยทั้งสองต่อสู้คดีรวมกันมา ค่าธรรมเนียมตั้งแต่ต้นจนถึงชั้นศาลอุทธรณ์ของฝ่ายจำเลย ให้นายกำธรใช้ครึ่งหนึ่ง โดยคิดเป็นส่วนของจำเลยที่ 1 ค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ใช้เต็ม และค่าทนาย 3 ศาล แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,200 บาท นอกจากที่แก้ไขนี้แล้วคงพิพากษายืนค่าทนายอีก 2 สำนวน ให้เป็นพับ เพราะโจทก์มิได้ฎีกา

Share