แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489 ออกประกาศฉบับที่ 69 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2499 แต่งตั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบการค้าข้าวแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บข้าวได้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสจึงออกประกาศฉบับที่ 2 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2507 ให้ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตประกอบการค้าข้าวทำรายงานการค้าข้าวประจำวันให้เสร็จสิ้นในวันรุ่งขึ้นและเก็บไว้ ณ สถานที่ประกอบการค้าข้าว ดังนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ารายงานการค้าข้าวประจำวันนั้นก็คือการแจ้งปริมาณข้าวที่คงเหลือในวันหนึ่งๆนั่นเอง ฉะนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสจึงมีอำนาจออกประกาศให้ทำรายงานการค้าข้าวได้ตามอำนาจในประกาศคณะกรรมการฉบับที่ 69 ข้อ 6(5) และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสย่อมจะมีอำนาจกำหนดระยะเวลาให้ผู้ค้าข้าวทำรายงานดังกล่าวให้เสร็จในวันรุ่งขึ้นได้ด้วยตามอำนาจที่ให้ไว้ในมาตรา 12 ประกอบด้วยมาตรา5 แห่งพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489
บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำรายงานการค้าข้าวประจำวันครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2508 โดยลงบัญชีข้าวสารเจ้าเหลือเมื่อสิ้นวัน จำนวน 8,800 กิโลกรัมครั้นต่อมาเมื่อระหว่างตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2508 ตลอดมาถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2508 เวลากลางวัน จำเลย ได้บังอาจละเว้นไม่ทำรายงานการค้าข้าวประจำวันให้เสร็จสิ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2508 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้น และจำเลยได้ฝ่าฝืนมิได้ทำรายงาน การค้าข้าวประจำวันให้เสร็จในวันรุ่งขึ้นตลอดมาจนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน2508 ฟ้องเช่นนี้ย่อมมีความหมายที่เข้าใจได้ชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า ล. จำเลยทำรายงานการค้าข้าวครั้งสุดท้ายเพียงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2508 เท่านั้นหลังจากนั้น คือ วันที่ 14 ถึง 19 พฤศจิกายน 2508 ตลอดมา จำเลยมิได้ทำรายงานประจำวันเลย และจำเลยก็ให้การรับสารภาพชี้แจง เหตุผลว่าที่ไม่ได้ทำรายงานเพราะคนทำบัญชีเกิดเจ็บป่วย ตัวจำเลยเองโง่เขลารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนี้ ย่อมแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาของโจทก์ ดีอยู่แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมอย่างใด ส่วนที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง ด้วยว่าเจ้าพนักงานได้ตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2508 นั้นไม่เป็นเหตุให้ฟ้องเสียไปเพราะเจ้าพนักงาน อาจพบว่าจำเลยไม่ทำรายงานการค้าข้าวตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2508นั้นได้ และตราบใดที่จำเลยยังคงไม่ทำรายงาน จำเลยก็ย่อมได้ชื่อว่า กระทำผิดทุกวันตลอดมา
คำว่า ‘ข้าวซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความผิดให้ริบเสีย’ ตามมาตรา 21 ทวิแห่งพระราชบัญญัติการค้าข้าวฯ นั้น จะต้องเป็นข้าวซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความผิดโดยตรงจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการค้าข้าวโดยชอบแล้ว จำเลยทำได้เพียงละเว้นไม่ทำรายงานการค้าข้าวประจำวันเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าข้าวนั้นได้เกี่ยวเนื่องกับความผิดของจำเลยอย่างใด จึงไม่ริบข้าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า คณะกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ.2489 ได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 8, 9, 12 กำหนดเขตจังหวัดนราธิวาสเป็นเขตควบคุมข้าว และตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามข้อ 6 ของประกาศคณะกรรมการฯ ฉบับที่ 69 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2499 และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้ออกประกาศฉบับที่ 2 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2507 ให้ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตประกอบการค้าข้าวทำรายงานการค้าข้าวประจำวันให้เสร็จสิ้นในวันรุ่งขึ้น และเก็บไว้ ณ สถานที่ประกอบการค้าข้าว จำเลยได้ทราบประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวแล้ว บังอาจฝ่าฝืนจำเลยทำรายงานการค้าข้าวประจำวันครั้งสุดท้ายเพียงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2508 โดยลงบัญชีข้าวสารเจ้าเหลือเมื่อสิ้นวันจำนวน 8,800 กิโลกรัม ราคา 6,720 บาท ครั้นต่อมาเมื่อระหว่างตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ตลอดมาจนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจละเว้นไม่ทำรายงานการค้าข้าวประจำวันให้เสร็จสิ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2508 เวลากลางวัน ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้น จำเลยได้ฝ่าฝืนไม่ทำรายงานการค้าข้าวประจำวันให้เสร็จสิ้นในวันรุ่งขึ้นตลอดมาจนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2508 เหตุเกิดที่ตำบลบางนาค อำเภอเมือง นราธิวาส จังหวัดนราธิวาส วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยและยึดข้าวสารจำนวน 8,800 กิโลกรัม เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ.2489 มาตรา 4, 8, 12, 17, 18 พระราชบัญญัติการค้าข้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2489 มาตรา 3, 4, 6,10, 12 ประกาศคณะกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489 ฉบับที่ 69 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ประกาศพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ.2489จังหวัดนราธิวาส ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2507 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ และขอให้ศาลคืนข้าวของกลางแก่จำเลยเพราะได้แจ้งปริมาณไว้แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องให้จำคุก 1 ปีและปรับ 1,200 บาท รับสารภาพโดยดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน และปรับ 600 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี คงปรับสถานเดียว และริบข้าวของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้ว ข้อที่จำเลยฎีกาว่าประกาศคณะกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489 ฉบับที่ 69 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2499 ไม่ได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะออกประกาศบังคับให้ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าวต้องทำรายงานการค้าข้าวประจำวันเก็บไว้ ณ สถานที่ทำการค้าแต่ประการใด ฉะนั้นประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2507 จึงเป็นประกาศที่นอกเหนืออำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่าประกาศคณะกรรมการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติการค้าข้าวฯ ฉบับที่ 69 นั้น ได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดไว้ในข้อ 6(5) ที่จะสั่งให้ผู้ประกอบการค้าข้าวแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บข้าวได้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่ารายงานการค้าข้าวประจำวันนี้ก็คือการแจ้งปริมาณข้าวที่คงเหลือไว้วันหนึ่ง ๆ นั้นเอง ฉะนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสจึงมีอำนาจออกประกาศให้ทำรายงานการค้าข้าวได้ตามอำนาจในประกาศฉบับที่ 69 ข้อ 6(5) ดังกล่าวแล้ว และผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ก็ย่อมจะมีอำนาจกำหนดระยะเวลาให้ผู้ค้าข้าวทำรายงานการค้าข้าวประจำวันให้เสร็จในวันรุ่งขึ้นได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ในมาตรา 12 ประกอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการค้าข้าวได้ด้วย
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์มีความหมายที่เข้าใจได้ชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยทำรายงานการค้าข้าวครั้งสุดท้ายเพียงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 เท่านั้น หลังจากนั้นคือวันที่ 14 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ตลอดมา จำเลยมิได้ทำรายงานประจำวันเลย ซึ่งจำเลยก็ยื่นคำให้การสารภาพตามฟ้องว่า ได้ลงบัญชีไว้เพียงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 เท่านั้นหลังจากนั้นมิได้ทำเพราะคนทำบัญชีเกิดเจ็บป่วย การกระทำผิดของจำเลยเกิดขึ้นเนื่องจากความโง่เขลารู้เท่าไม่ถึงการณ์ของจำเลยทั้งนี้ ย่อมแสดงว่าจำเลยได้เข้าใจข้อหาของโจทก์ดีอยู่แล้ว จึงได้ให้การรับสารภาพมาอย่างแจ่มแจ้งแสดงเหตุผลเช่นนั้น อนึ่ง ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่าเจ้าพนักงานได้ตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 นั้น ก็ไม่เป็นเหตุให้ฟ้องเสียไปแต่อย่างใด เพราะเจ้าพนักงานอาจพบว่าจำเลยไม่ทำรายงานการค้าข้าวตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 นั้นได้ และตราบใดที่จำเลยยังคงไม่ทำรายงาน จำเลยก็ย่อมได้ชื่อว่ากระทำผิดทุกวันตลอดมา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ส่วนปัญหาเรื่องริบข้าวของกลางที่จำเลยฎีกามานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติการค้าข้าว มาตรา 21 ทวิ ได้บัญญัติว่า”ข้าวซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความผิดตลอดจนสิ่งที่ใช้บรรจุให้ริบเสีย” คำว่า ข้าวซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความผิดนี้ศาลฎีกาเห็นว่า จะต้องเป็นข้าวซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความผิดโดยตรง คดีนี้ จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการค้าข้าวโดยชอบแล้ว ความผิดของจำเลยอยู่ที่การละเว้นไม่ทำรายงานเท่านั้น ข้าวของกลางรายนี้จึงไม่เกี่ยวเนื่องกับความผิดของจำเลยแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงไม่ริบ ตามนัย คำพิพากษาฎีกาที่ 201/2493 202/2493 และ 495/2500 ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่เป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ โดยให้คืนข้าวสารของกลาง 8,800 กิโลกรัมให้จำเลยไป นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์