แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินกู้ตามฟ้องให้โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นภริยาผู้รับมรดก บ. โดยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาต้องรับผิดร่วมด้วย แต่ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยนั้น ยังไม่ได้แบ่งมรดกกันระหว่างทายาท โฉนดยังเป็นชื่อของ บ. เจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ผู้ร้องเพิ่งโอนรับมรดกในขณะคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ฉะนั้น ถึงแม้ที่ดินพิพาทโอนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนนายแบนเจ้ามรดกก็ตาม ทีJพิพาทก็ยังเป็นทรัพย์ในกองมรดกของ บ. ซึ่งยังมิได้แบ่งอยู่นั่นเอง โจทก์จึงชอบที่จะยึดที่ดินพิพาทมาบังคับคดีได้ โดยไม่ต้องฟ้องทายาทผู้รับมรดกคนอื่น
ย่อยาว
กรณีนี้ เดิมศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินกู้ตามฟ้องให้โจทก์ในฐานะที่จำเลยเป็นภริยาผู้รับมรดกนายแบบโดยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาต้องรับผิดร่วมด้วย โจทก์นำยึดทรัพย์หลายอย่าง แต่ที่พิพาทกันในชั้นนี้คือ ที่ดินโฉนดตราจองที่ 224 เพื่อขายทอดตลาด ผู้ร้องที่ 1, 3, 4, 5 และ 6 ร้องขัดทรัพย์ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง โดยผู้ร้องเป็นทายาทของนายแบบและได้รับมรดกตกทอดมา ได้แก้ทะเบียนหลังโฉนดตราจองแล้ว ขอให้ปล่อยการยึด
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ โจทก์จะนำยึดที่ดินซึ่งทายาทโอนรับมรดกไปแล้วไม่ได้สั่งให้ถอนการยึด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องที่ 1, 3, 4, 5 และ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับกันว่าเดิมโฉนดที่พิพาทมีชื่อนายแบบเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องโอนรับมรดกนายแบบมาในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้รับมรดกนายแบนและคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ปัญหาว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกจะยึดที่ดินโฉนดพิพาทได้หรือไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1736 บัญญัติว่า ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ ตามมาตรา 1738 วรรคแรกบัญญัติว่าก่อนแบ่งมรดก เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับชำระหนี้เต็มจำนวนจากกองมรดกก็ได้ และตามมาตรา 1737 เจ้าหนี้จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ เมื่อคดีฟังได้ว่า ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยยังไม่ได้แบ่งมรดกกันระหว่างทายาท ใบโฉนดยังเป็นชื่อของนายแบนเจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องเพิ่งโอนรับมรดกในขณะคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ถึงแม้ที่ดินพิพาทโอนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนนายแบนเจ้ามรดกก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นทรัพย์ในกองมรดกของนายแบนซึ่งยังมิได้แบ่งกันอยู่นั่นเอง โจทก์จึงชอบที่จะยึดที่ดินพิพาทมาบังคับคดีได้
พิพากษายืน