คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ‘ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย’ ตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 หมายถึง ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย หาใช่ก่อนวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานให้ศาลทราบถึงผลการประชุมเจ้าหนี้เพื่อศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา 61 ไม่
การซื้อขายที่ดินและตึกแถวเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่งทันทีที่คู่กรณีตกลงทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติชำระต่อกัน ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านตกลงซื้อขายที่ดินและตึกแถวพิพาทกับจำเลย ผู้คัดค้านในฐานะผู้ซื้อจึงมีหนี้ที่จะต้องชำระราคาแก่จำเลยผู้ขายและจำเลยก็มีหนี้ที่จะต้องชำระคือโอนทรัพย์สินที่ตกลงซื่อขายนั้นแก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นตามความหมายของพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 แล้ว
ผู้คัดค้านซึ่งได้รับโอนทรัพย์สินพิพาทจากจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ถือเป็นคู่สัญญากับจำเลยโดยตรง มิใช่เป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้โอนขายทรัพย์สินพิพาทให้ผู้คัดค้านในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย และจำเลยกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้รายอื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ผู้คัดค้านได้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่

ย่อยาว

คดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว และปรากฏว่าจำเลยได้โอนขายที่ดินและตึกแถวบนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านในระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย เป็นการมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ จึงขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านซื่อที่ดินและตึกแถวดังกล่าวมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ไม่เป็นนิติกรรมที่มุ่งให้เจ้าหน้าที่อื่นเสียเปรียบและหาขึ้นก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลายอย่างน้อย ๗ เดือนเศษ นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ทั้งคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาประการแรกที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าได้มีการโอนกันภายในระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนหรือหลังมีการขอให้ล้มละลายอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ นั้น พิเคราะห์แล้ว คำร้องของผู้ร้องได้บรรยายว่าได้โอนขายที่ดินและตึกแถวให้แก่ผู้คัดค้านในระหว่างระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ซึ่งมีความหมายว่าวันที่มีการขอให้ล้มละลายคือวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายนั่นเอง เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องได้บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับคดีอีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา พอที่จะเข้าใจได้แล้ว คำร้องของผู้ร้องจึงไม่เคลือบคลุม
ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า คำว่า ” ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ” ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ หมายถึงก่อนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายตามมาตรา ๖๑ ผู้ร้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายหลังวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ และการโอนทำกันในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๒๓ จึงมิใช่เป็นการโอนกันก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ๓ เดือน ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนนั้น พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ บัญญัติว่า ” การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้คนอื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์มีคำขอโดยหาเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้ ” ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า ” ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ” ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ หมายถึง ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย หาใช่ก่อนวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานให้ศาลทราบถึงผลการประชุมเจ้าหนี้เพื่อศาลพิพากษาให้ลูกหนี้หรือจำเลยล้มละลายตามมาตรา ๖๑ ไม่ เมื่อการโอนทรัพย์สินรายนี้จำเลยได้กระทำเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๒๓ นับถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย จึงอยู่ในระหว่างระยะเวลา ๓ เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ตามมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ แล้ว
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้คัดค้านมีฐานะเป็นเจ้าหนี้หรือไม่ เห็นว่า การโอนทรัพย์สินรายนี้ เกิดขึ้นจากการซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง ฉะนั้น ทันทีที่คู่กรณีตกลงทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติชำระต่อกัน ผู้คัดค้านในฐานะผู้ซื้อมีหนี้สินที่จะต้องชำระราคาแก่จำเลยผู้ขาย และจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระ คือโอนทรัพย์สินที่ตกลงซื่อขายนั้นแก่ผู้คัดค้าน ดังนั้นผู้คัดค้านจึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ตามความหมายของพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕
ที่ผู้คัดค้านฎีกาต่อไปว่า ผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก รับโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตามมาตรา ๑๑๖ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ จึงเพิกถอนการโอนไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้คัดค้านได้รับโอนทรัพย์สินพิพาทจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ผู้คัดค้านจึงเป็นคู่สัญญากับลูกหนี้โดยตรง มิใช่เป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๑๖ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้โอนขายทรัพย์พิพาทให้ผู้คัดค้านในระหว่างระยะเวลา ๓ เดือนก่อนมีการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย และจำเลยกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้รายอื่นของจำเลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าผู้คัดค้านได้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่
พิพากษายืน.

Share