คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4409/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2529 ศาลชั้นต้นสั่งว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่รับฎีกา จำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2529 จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาโดยไม่ได้ฎีกาใหม่ต่างหากจากฉบับเดิม ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาแล้ว ก็ไม่มีฎีกาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมได้แม้จะอยู่ในกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะฎีกาได้ก็ตาม การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยอื่นศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก ๖ เดือน
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกา
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอแก้ไขฎีกาและคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกา ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อที่ขอแก้ไข และเพิ่มเติมฎีกาเป็นข้อกฎมหาย มีคำสั่งรับเป็นฎีกาทั้ง ๒ ฉบับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๙ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามไม่ให้ฎีกา ไม่รับฎีกาจำเลยที่ ๒ ไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๙ จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขฎีกากับคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกา เห็นว่า เมื่อฎีกาเดิมของจำเลยที่ ๒ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับเสียแล้ว จึงไม่มีฎีกาที่จะแก้ไขหรือเพิ่มเติมได้ แม้จะอยู่ในกำหนดระยะเวลาที่จำเลยที่ ๒ จะฎีกาได้ก็ตาม เพราะจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ฎีกาใหม่ต่างหากจากฉบับเดิมการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้อขอแก้ไขฎีกา และคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายกคำร้องขอแก้ไขฎีกา และคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยที่ ๒

Share